เปิดเผยความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในอาคาร
สารบัญ
- 4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคุณภาพอากาศในอาคาร
- อันตรายต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศในอาคารที่ไม่ดีซึ่งคุณควรระวัง
- สารมลพิษที่พบได้ทั่วไปและผลกระทบต่อสุขภาพ
- การตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในบ้าน
- 7 วิธีในการทำให้อากาศในบ้านสะอาดสดชื่น
- nanoe™ X ของพานาโซนิค ช่วยฟอกอากาศและทำความสะอาดพื้นผิวเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดียิ่งขึ้น
เรามักจะคิดว่ามลพิษทางอากาศอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่จริงๆ แล้วสภาพแวดล้อมภายในอาคารเองก็สามารถปนเปื้อนได้ ในบ้าน ที่ทำงาน และสถานที่ภายในอาคารอื่นๆ ก็อาจเป็นแหล่งของสารมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารคือการแทรกซึมของมลพิษจากภายนอก แม้เราจะพยายามอย่างดีที่สุดแล้วในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปิดมิดชิด แต่สารมลพิษต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง ละอองเกสรดอกไม้ และก๊าซจากยานพาหนะก็ยังสามารถเล็ดลอดเข้ามาในอาคารผ่านทางช่องว่างของหน้าต่างและประตูได้ สารมลพิษขนาดเล็กจากภายนอกเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และอาการภูมิแพ้ได้
นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่มีสารเคมีเป็นส่วนผสมซึ่งเราใช้ภายในบ้านก็อาจทำให้อากาศในบ้านเป็นพิษได้เช่นกัน สารเคมีเหล่านี้จะล่องลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน และเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ การทำความเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันเหล่านี้สามารถช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้ออย่างชาญฉลาดได้เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศภายในอาคาร
ปัจจัยที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือรูปแบบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิและระดับความชื้นที่ผันผวนจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา จุดรา และแบคทีเรีย ความชื้นสูงจะทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สำหรับจุลินทรีย์เหล่านี้ ในขณะที่ความชื้นต่ำอาจทำให้ทางเดินหายใจแห้งและเกิดการระคายเคือง
ในบทความนี้ เราจะมาศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยละเอียด และลบความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ รวมถึงสำรวจวิธีการต่างๆ ในการตรวจสอบ และปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในบ้านของคุณ
4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคุณภาพอากาศในอาคาร
ต่อไปนี้คือความเชื่อที่ผิด 4 ข้อเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศภายในอาคารที่หลายคนยังไม่ทราบ
ความเชื่อที่ 1: มลพิษทางอากาศในอาคารเกิดจากมลพิษภายนอกเท่านั้น
ข้อเท็จจริง: แม้มลพิษจากภายนอกอาจมีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในอาคาร แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียว มลพิษทางอากาศในอาคารอาจเกิดจากสารเคมีที่ถูกปล่อยออกมาจากวัสดุในอาคาร เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว นอกจากนี้ การทำอาหาร การสูบบุหรี่ในอาคาร หรือการใช้อุปกรณ์บางชนิดยังสามารถปล่อยสารมลพิษออกสู่อากาศในอาคารได้ด้วย ความจริงแล้ว อากาศในอาคารอาจมีมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกเสียอีกเนื่องจากการสะสมของแหล่งมลพิษเหล่านี้ ขนและสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยงของเราก็อาจมีส่วนทำให้คุณภาพอากาศภายในอาคารย่ำแย่ได้เช่นกัน
ความเชื่อที่ 2: การเปิดหน้าต่างและประตูทิ้งไว้ช่วยให้คุณภาพอากาศภายในอาคารดีขึ้นได้เสมอ
ข้อเท็จจริง: การเปิดหน้าต่างและประตูทิ้งไว้จะช่วยให้คุณภาพอากาศในอาคารดีขึ้นได้เมื่ออากาศจากภายนอกสะอาดและสดชื่นเท่านั้น ในบางครั้ง อากาศจากภายนอกอาจมีมลพิษสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่งหรือมีการปล่อยก๊าซจากโรงงานอุตสาหกรรม การเปิดหน้าต่างในสถานที่ที่มีมลพิษอาจทำให้สารมลพิษแพร่กระจายเข้าสู่สภาพแวดล้อมในอาคารได้มากขึ้น และทำให้คุณภาพอากาศภายในอาคารรวมถึงอาการในระบบทางเดินหายใจแย่ลง ดังนั้น จึงควรพิจารณาคุณภาพอากาศภายนอกและผลกระทบต่อบุคคลก่อนจะใช้การระบายอากาศเป็นเพียงวิธีเดียวในการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร
ความเชื่อที่ 3: มลพิษทางอากาศจากภายนอกเป็นอันตราย ดังนั้น การอยู่ภายในอาคารจะสามารถปกป้องเราจากมลพิษทางอากาศได้
ข้อเท็จจริง: เรามักมีความเชื่อผิดๆ ว่าการอยู่ในอาคารสามารถป้องกันมลพิษทางอากาศได้ แต่ในบางครั้ง คุณภาพอากาศภายในอาคารอาจแย่กว่าภายนอกเนื่องจากมีสารมลพิษจากภายนอกเข้ามาสะสมอยู่ เมื่ออากาศภายนอกมีมลพิษสูง อากาศนั้นอาจแทรกซึมเข้ามาในอาคารผ่านทางรอยรั่ว หน้าต่างที่เปิดไว้ หรือระบบระบายอากาศ และทำให้สารมลพิษในอาคารมีความเข้มข้นสูงขึ้นจนเกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัดและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ความเชื่อที่ 4: การปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารคือการลงทุนครั้งใหญ่
ข้อเท็จจริง: ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความพยายามของบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ในปัจจุบันเราจึงมีระบบฟอกอากาศให้เลือกมากมายตามความต้องการที่แตกต่างกัน ระบบเหล่านี้เกิดจากการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคทั่วโลกจึงสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องฟอกอากาศ ระบบระบายอากาศ หรือโซลูชันฟอกอากาศอื่นๆ คุณจึงมีตัวเลือกมากมายที่เหมาะสมกับงบประมาณ และความต้องการที่หลากหลาย
อันตรายต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศในอาคารที่ไม่ดีซึ่งคุณควรระวัง
เนื่องจากมนุษย์ใช้เวลาในพื้นที่ปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ เครื่องบิน สำนักงาน ไปจนถึงอาคารสูงต่างๆ ในปัจจุบันคุณภาพอากาศในอาคารจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คุณภาพอากาศภายในอาคารอาจแย่ลงได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ฝุ่นควัน สภาพของตัวอาคาร รูปแบบของสภาพอากาศ และกิจกรรมของมนุษย์ หากบุคคลหนึ่งอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นระยะเวลานาน ก็อาจมีโอกาสป่วยเป็นโรคตึกเป็นพิษ (Sick building syndrome) ได้มากขึ้น
อาการของโรค SBS¹ ได้แก่ ปวดศีรษะ ระคายเคืองตา จมูก และลำคอ ไอแห้ง ผิวแห้งหรือมีอาการคัน วิงเวียนและคลื่นไส้ ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลียและไวต่อกลิ่น
สารมลพิษที่พบได้ทั่วไปและผลกระทบต่อสุขภาพ²
- PM2.5 (อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก)
แหล่งที่มา: สิ่งแวดล้อมนอก/ในอาคาร การทำอาหาร กิจกรรมที่มีการเผาไหม้ (การจุดเทียน การใช้เตาผิง เครื่องทำความร้อน เตาแก๊ส เตาผิงและปล่องควัน การสูบบุหรี่) การทำความสะอาด
ผลกระทบต่อสุขภาพ:
- เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอด
- หัวใจวายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาการหอบหืดแย่ลงและสมรรถภาพปอดลดลง
- อาการในระบบทางเดินหายใจรุนแรงขึ้น
- VOC (สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย)
แหล่งที่มา: สิ่งแวดล้อมนอก/ในอาคาร การทำอาหาร กิจกรรมที่มีการเผาไหม้ (การจุดเทียน การใช้เตาผิง เครื่องทำความร้อน เตาแก๊ส เตาผิงและปล่องควัน การสูบบุหรี่) การทำความสะอาด
ผลกระทบต่อสุขภาพ:
- ระคายเคืองตา จมูก และลำคอ
- ปวดศีรษะ ร่างกายสูญเสียการประสานงานและคลื่นไส้
- ตับ ไต และระบบประสาทส่วนกลางเสียหาย
- สารอินทรีย์บางชนิดทำให้เกิดมะเร็ง
- ละอองลอย
แหล่งที่มา: ควันจากยาสูบ วัสดุในอาคาร ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค การจุดธูป การทำความสะอาด และการทำอาหาร
ผลกระทบต่อสุขภาพ:
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคในระบบทางเดินหายใจ
- ภูมิแพ้
- มะเร็งปอด
- ระคายเคืองและรู้สึกอึดอัด
- สารกำจัดศัตรูพืช
แหล่งที่มา: สิ่งแวดล้อมนอกอาคาร สารกำจัดปลวก สารกำจัดแมลง สารกำจัดหนู สารกำจัดเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อ และสารกำจัดวัชพืช วัสดุในอาคาร เช่น พรม สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์บุนวมต่างๆ
ผลกระทบต่อสุขภาพ:
- ระคายเคืองตา จมูก และลำคอ
- ระบบประสาทส่วนกลางและไตเสียหาย
- เสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากขึ้น
- จุลินทรีย์
แหล่งที่มา: แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราที่เข้ามาพร้อมกับมนุษย์ สัตว์ รวมถึงดินและพืช
ผลกระทบต่อสุขภาพ:
- มีไข้
- ปัญหาในระบบย่อยอาหาร
- โรคติดเชื้อ
- เจ็บป่วยเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ
การตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในบ้าน
เครื่องตรวจสอบคุณภาพอากาศเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์หนึ่งตัวหรือหลายตัวเพื่อระบุ ตรวจสอบ และแสดงภาพระดับของมลพิษทางอากาศเฉพาะ เช่น PM2.5, CO2, TVOC และข้อมูลอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิและความชื้นในปัจจุบันของสภาพแวดล้อม.3
อุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กจะวัดระดับความเข้มข้นของอนุภาคในอากาศ เช่น PM2.5 และ PM10 ในขณะที่เครื่องตรวจจับแก๊สสามารถตรวจจับและวัดปริมาณแก๊สบางชนิดได้ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย เครื่องตรวจจับแก๊สบางรุ่นจะมาพร้อมกับระบบเตือนภัยที่จะส่งสัญญาณเตือนเมื่อแก๊สที่เป็นอันตรายมีความเข้มขึ้นถึงระดับที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นความโชคดีของผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ที่แบรนด์ต่างๆ มีอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ใช้เซ็นเซอร์หลายชนิดดังที่กล่าวไปข้างต้นสำหรับการใช้งานภายในบ้าน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ฟอกอากาศโดยทั่วไปมักจะมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตั้งมาให้แล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่มีสัญญาณเตือนก็ตาม
เมื่อสามารถตรวจสอบและดูข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศภายในอาคารได้อย่างง่ายดาย เราทุกคนจึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นได้ด้วยตนเองโดยอาศัยวิธีการที่หลากหลายในการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร
7 วิธีในการทำให้อากาศในบ้านสะอาดสดชื่น
1. ใช้ระบบฟอกอากาศ
ระบบฟอกอากาศคืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถช่วยในการกำจัดสารมลพิษและสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ จากอากาศได้ เช่น ฝุ่นละออง ควัน และสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ระบบเหล่านี้ทำงานโดยการดูดอากาศเข้ามาในเครื่องและส่งผ่านตัวกรองที่ทำหน้าที่ดักจับสารมลพิษ จากนั้นจึงปล่อยอากาศที่สะอาดกลับสู่ห้อง
การใช้เครื่องฟอกอากาศช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารและลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจได้
2. ปลูกต้นไม้ในอาคาร
ต้นไม้คือเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติที่สามารถกำจัดสารมลพิษและทำให้อากาศสดชื่นขึ้นได้ พืชบางชนิดจะมีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยมในการกำจัดสารพิษ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซีน และไตรคลอโรเอทีลีน การปลูกต้นไม้ในอาคารจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
3. ทำให้มีการระบายอากาศที่ดีอยู่เสมอ
การติดตั้งระบบระบายอากาศที่ดีจะทำให้มีอากาศสดชื่นไหลเวียนภายในห้อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับห้องที่อาจมีสารมลพิษต่างๆ เช่น ห้องครัวและห้องน้ำ ในพื้นที่เขตเมือง ระดับมลพิษที่สูงขึ้นทำให้อากาศภายนอกอาคารเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงขอแนะนำให้คุณใช้ระบบระบายอากาศด้วย
4. น้ำหอมปรับอากาศจากธรรมชาติ
การใช้น้ำหอมปรับอากาศจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันหอมระเหย สมุนไพร และเบกกิ้งโซดาสามารถช่วยให้อากาศสดชื่นขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งน้ำหอมสังเคราะห์ที่อาจมีสารเคมีอันตราย คุณสามารถเติมน้ำมันหอมระเหยลงในอุปกรณ์กระจายกลิ่น ส่วนสมุนไพรและเบกกิ้งโซดาก็สามารถนำมาใช้เป็นน้ำหอมปรับอากาศแบบ DIY ได้ ทางเลือกจากธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมและทำให้คุณภาพอากาศภายในอาคารดีขึ้น
5. ควบคุมแหล่งที่มา
การควบคุมแหล่งที่มาช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารได้หลายวิธีโดยการลดจำนวนแหล่งมลพิษหรือการปล่อยแก๊ส เช่น คุณอาจปิดผนึกหรือห่อหุ้มวัสดุที่มีแร่ใยหินเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นใยกระจายออกไปในอากาศหรือปรับเตาแก๊สของคุณเพื่อลดปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมา วิธีอื่นๆ ได้แก่ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซน้อย เช่น สีหรือสารทำความสะอาด
6. ควบคุมความชื้น
เครื่องลดความชื้นมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคารโดยการลดปริมาณความชื้นในอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย ระดับความชื้นที่ต่ำเกินไปจะทำให้ผิวหนัง ริมฝีปาก และจมูกแห้ง ในขณะที่ความชื้นสูงเกินไปจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อรา หากต้องการเพิ่มความชื้น ให้ใช้เครื่องทำความชื้น นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้โหมดแห้งในเครื่องปรับอากาศเพื่อลดระดับความชื้นลงได้ด้วย
7. โซลูชันอัจฉริยะสำหรับบ้าน
บุคคลหรือครอบครัวสามารถเลือกใช้โซลูชันอัจฉริยะสำหรับบ้านซึ่งจะมีฟังก์ชันต่างๆ ของเครื่องฟอกอากาศ ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ และระบบระบายอากาศ เมื่อตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์จะปรับการทำงานเพื่อรักษาค่าต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น PM2.5 หรือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย และโซลูชันที่ทันสมัยบางรุ่นก็อาจมีการติดตั้งสัญญาณเตือนในตัวเพื่อแจ้งให้ทราบถึงแก๊สที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ บริษัท HVAC หลายแห่งยังได้เริ่มจำหน่ายทั้งโซลูชันเพื่อการพาณิชย์และที่อยู่อาศัยด้วย
อากาศในบ้านที่เราหายใจเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของเราอย่างมีนัยสำคัญ เมื่ออากาศปราศจากสารมลพิษ สารก่อภูมิแพ้ และสารพิษต่างๆ ระบบทางเดินหายใจของเราจะทำงานได้ดี จึงช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ ทุกครั้งที่หายใจ ออกซิเจนที่สะอาดบริสุทธิ์จะเข้าสู่ร่างกายของเรา ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังและทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ดังนั้น เราจะมาเริ่มต้นการเรียนรู้เพื่อเปิดเผยเคล็ดลับเกี่ยวกับอากาศบริสุทธิ์เพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดีและสดใสยิ่งขึ้นไปด้วยกัน
nanoe™ X ของพานาโซนิคช่วยฟอกอากาศและทำความสะอาดพื้นผิวเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดียิ่งขึ้น
เราสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยการใช้ระบบฟอกอากาศร่วมกับระบบระบายอากาศ การระบายอากาศจะนำอากาศที่สดชื่นจากภายนอกเข้ามาและไล่อากาศที่มีมลพิษออกไป ในขณะเดียวกัน ระบบฟอกอากาศจะช่วยขจัดสารมลพิษส่วนเกินที่ยังหลงเหลืออยู่ในอากาศและบนพื้นผิวต่างๆ ภายในอาคาร
เทคโนโลยี nanoe™ X จะผลิตอนุมูลไฮดรอกซิลปริมาณมากเพื่อทำลายโครงสร้างโปรตีน และยับยั้งสารมลพิษในอากาศ และสารมลพิษบนพื้นผิวสัมผัส เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ กลิ่นไม่พึงประสงค์ และสารอันตรายต่างๆ เช่น PM2.5
โดยธรรมชาติแล้ว อนุมูลไฮดรอกซิลจะสลายไปภายในไม่กี่วินาที แต่เทคโนโลยี nanoe™ X สามารถผลิตอนุมูลไฮดรอกซิลที่กักเก็บในน้ำได้ จึงช่วยยืดอายุและเพิ่มประสิทธิภาพให้อนุมูลเหล่านี้ได้อย่างมาก เนื่องจากมีขนาดเล็ก อนุภาค nanoe™ X จึงสามารถซึมลึกลงไปในเส้นใย เช่น ผ้าม่านและพรมได้เพื่อยับยั้งสารมลพิษในเนื้อผ้า
นอกจากนี้พานาโซนิค ยังมีโซลูชันเพื่อคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ผสมผสานฟังก์ชันการปรับอากาศ ฟอกอากาศ และระบายอากาศไว้ด้วยกัน คุณจึงสามารถเพลิดเพลินไปกับอากาศบริสุทธิ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพียงแค่สัมผัสด้วยปลายนิ้วเมื่อใช้แอป Comfort Cloud จากพานาโซนิค บนโทรศัพท์มือถือของคุณ ระบบจะจัดการอากาศแบบครบวงจรเพื่อให้คุณ และคนที่คุณรักได้หายใจด้วยอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่น และมีสุขภาพดี พบกับบ้านที่ทำให้คุณสดชื่นได้แล้ววันนี้!
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ nanoe™ X ของพานาโซนิค คลิก ที่นี่
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง