My Ninja Octopus
ถ้าถามว่าผมชอบถ่ายรูปสัตว์ทะเลชนิดไหนมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น “หมึก” ที่เรามักชอบเรียกติดปากกันว่า “ปลาหมึก” ที่ถูกต้องแล้วควรเรียกว่าหมึกเฉยๆ เพราะหมึกไม่มีส่วนใดเหมือนปลาเลย นอกจากแค่อาศัยอยู่ในทะเลร่วมกับปลาเท่านั้น หมึกเป็นสัตว์น่าทึ่งและชวนพิศวง มีคาแรคเตอร์ที่ทำให้นึกถึงนินจาที่เราดูในหนัง ไม่ว่าจะเป็นความฉลาด เทคนิคการเอาตัวรอด และความน่ารัก เวลาถ่ายภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบันทึกวีดีโอ เราจะได้เห็นอิริยาบทแปลกๆ ในทุกๆ เสี้ยววินาที
ในวีดีโอนี้หลักๆ มีหมึกอยู่ 2 ประเภท คือหมึกสาย (Octopus) และหมึกกระดอง (Cuttlefish)
หมึกสาย (Octopus) มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ไม่ค่อยหากินกลางน้ำเท่าใดนัก มักหากินตามพื้นทะเล ล่าสัตว์ในแนวปะการัง ซ่อนตัวในหลืบรู หมึกสายมีแปดหนวด ล่าเหยื่อโดยการแผ่พังผืดบริเวณโคนหนวดลักษณะคล้ายร่มเป็นแหครอบเหยื่อไว้ ก่อนต้อนเข้าปาก เหล่านินจาหมึกสายที่ผมถ่ายรวบรวมไว้ได้ในวีดีโอนี้มีอยู่หลายชนิด เช่น Long Arm Octopus, Mimic Octopus, Wonderpus, Blue-Ringed Octopus และ Coconut Octopus
ส่วนหมึกกระดองจะมีแผ่นหินปูนรูปกระสวย ที่เรียกว่าลิ้นทะเล สอดอยู่ในส่วนลำตัวเพื่อช่วยในการลอยตัว มีหนวดทั้งหมด 10 หนวด โดยจะมีคู่หนึ่งที่ยาวเป็นพิเศษ และสามารถยืดหดพุ่งออกไปได้ ใช้สำหรับในการล่าเหยื่อ จับอาหาร เหมือนใช้ฉมวก หมึกกระดองที่มาปรากฏตัวในวีดีโอนี้ ก็ได้แก่ Bobtail Squid และ Flamboyant Cuttlefish
Long Arm Octopus
ในขณะที่คนอื่นตกหมึก แต่ผมโดนหมึกตก ด้วยเสน่ห์ และความน่าทึ่งของมัน ทุกครั้งที่ดำน้ำ เป็นต้องมองหาเหล่านินจา แล้วก็เริ่มหาข้อมูลจนรู้ว่า หมึกตัวไหนคือนินจาค่ายไหน มีวิชาอะไรกันบ้าง
Long Arm Octopus จะมีหนวดหรือแขนดูยาวเป็นพิเศษ สีเหลืองทองหน่อยๆ ลำตัวไม่มีลาย
Mimic Octopus
Wonderpus
Mimic Octopus กับ Wonderpus สองตัวนี้ ลวดลายบนหนวดและตัวจะเป็นลายสีน้ำตาลเข้มสลับกับสีขาวเป็นข้อๆ บั้งๆ Mimic Octopus นั้นเป็นสายแปลงร่างหากโดนคุกคาม ก็สามารถเปลี่ยนรูปร่างเลียนแบบ คล้ายปลาสิงโตตอนกางครีบออกเพื่อข่มขู่ศัตรู (สี และลายปกติก็จะคล้ายๆ ปลาสิงโตอยู่แล้ว) บางครั้งก็แปลงร่างคล้ายปลาลิ้นหมา หรือบางครั้งก็เลียนแบบคล้ายงูทะเล ส่วน Wonderpus นั้น ละม้ายคล้าย Mimic Octopus อยู่บ้างเพียงแต่ว่าไม่เปลี่ยนรูปร่างเหมือน Mimic และสีลำตัวหรือลายสลับก็ดูเป็นสีน้ำตาลอ่อนกว่า
Coconut Octopus ไม่มีลาย ลำตัวสีเข้มคล้ำคล้ายกะละมะพร้าว โดดเด่นเรื่องการซ่อนตัวจากอันตราย โดยเอากะลามะพร้าวมาครอบตัวเพื่อซ่อนตัวจากศัตรู และบ่อยครั้งก็หลบอยู่ในหอยสองฝา หรือหดตัวเข้าไปอยู่ในขวดแก้ว
Coconut Octopus
Blue-Ringed Octopus
Blue-Ringed Octopus หรือหมึกสายวงฟ้า หมึกสายวงน้ำเงิน เป็นนินจาสายพิษ ด้วยการเป็นสายพันธุ์ที่มีถุงน้ำหมึกในตัวค่อนข้างเล็ก จึงมีพิษสำหรับป้องกันตัวและล่าเหยื่อ จัดว่าเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรงอันดับต้นๆ ของโลก และยังไม่มียาแก้พิษ ในระยะหลังมักจะมีข่าวว่ามีคนที่ไม่ทราบและกินหมึกชนิดนี้เข้าไป แม้ว่าจะปรุงสุกแล้วแต่พิษก็ยังคงอยู่ ฉะนั้นก่อนกินหมึกขอให้สังเกตให้ดีก่อนเสียก่อน โดยปกติ Blue-Ringed Octopus เป็นหมึกที่ไม่มีความก้าวร้าวต่อมนุษย์ มักหนีและหลบเลี่ยงอยู่เสมอ มีขนาดประมาณสี่ถึงหกเซนติเมตร ในวีดีโอเป็นภาพหมึกสายวงฟ้าที่บันทึกได้จากเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อปีที่แล้วนี่เอง
หมึกกระดองอย่าง Bobtail Squid ชื่อสามัญอังกฤษเป็น squid แต่จริงๆ แล้วถือเป็นหมึกกระดอง (Cuttlefish) พบได้บ่อยตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน เมื่อฉายไฟฉายจะเห็นตาที่โผล่ออกมาจากพื้นทรายยามค่ำคืน ลายและเม็ดสีบนลำตัวสามารถเปลี่ยนสีได้ รูปร่างหน้าตาดูน่ารัก มีขนาดค่อนข้างเล็กตั้งแต่ 1 เซนติเมตร หรือตัวเต็มวัยมีขนาดรวมหนวดประมาณสองนิ้ว
Bobtail Squid
Flamboyant
หมึก Flamboyant เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวรวมหนวดราว 6-8 เซนติเมตร เป็นหมึกที่มีสีสันจัดจ้านที่สุด ขณะพรางตัวอาจมีสีน้ำตาล แต่พอโดนคุกคามก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู และน้ำตาล มีลายสีเหลืองแซมอยู่ด้วย และยังสามารถใช้หนวดเดินใต้น้ำ น่ารักราวกับเป็นรถถังของเล่น เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ถ่ายรูปสนุกเพราะลวดลายสีสันบนลำตัวเหมือนมีแสงไฟในดิสโก้เทคประดับอยู่
Lumix GH5
สำหรับวีดีโอชุดนี้ เป็นการถ่ายรวบรวมไว้จาก 2 ที่คือ ช่องแคบเลมเบห์ เกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเป็นการใช้กล้อง Lumix 2 รุ่น คือ Lumix GH5 ซึ่งเป็นกล้อง Micro Four Thirdและ กล้อง Full Frame Lumix S1R ใส่ใน Housing กันน้ำพร้อมพอร์ตสำหรับเลนส์มาโคร
ส่วนเลนส์ Lumix GH5 ใช้ Panasonic Leica DG Macro-Elmarit 45mm f/2.8 ASPH. MEGA O.I.S. Lens และ Lumix S1R ใช้เลนส์100 mm มาโคร นอกจากนี้ยังใช้ไฟวีดีโอใต้น้ำเพื่อการคืนสีที่ถูกต้องให้กับภาพวีดีโออีก 2 ดวงซ้าย-ขวา
กล้อง GH5 บันทึกภาพในระบบการบันทึกสี 4:2:2 เพื่อให้เก็บรายละเอียดของสีได้สูงสุด ตลอดจนบันทึกภาพ Slow 50 fps สำหรับการเลือกใช้เลนส์ 45 mm ก็เพื่อความยืดหยุ่นคล่องตัวในการถ่าย เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเจอหมึกขนาดใดบ้าง ซึ่งหมึกก็จะมีตั้งแต่ขนาดเล็กๆ 1-2 เซนติเมตร จนถึงหมึกสายที่มีขนาดรวมหนวดรวมเกือบๆ 90 เซนติเมตร เลนส์ 45 mm จึงจัดได้ว่าเป็นเลนส์ครอบคลุมการใช้งานทุกช่วงมาโคร ทั้งยังมีขนาดเล็กและเบา ให้ความคมชัดในทุกลักษณะงานไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือการบันทึกวีดีโอ
Lumix S1R
โหมดการโฟกัสที่ผมเลือกใช้ในการถ่ายงานมาโคร คือ Pinpoint AF เพราะสามารถโฟกัสในจุดที่เล็กๆ ได้อย่างแม่นยำ ในงานมาโครซึ่งต้องการความแม่นยำในการโฟกัสที่ตาสัตว์ขนาดเล็กให้ชัดอันเป็นหลักการถ่ายภาพมาโคร ให้ตาสัตว์สื่อสารกับผู้ชม ผมได้ลองใช้ทั้ง Manual Focus และ AF สำหรับงานมาโครใต้น้ำถือว่าผ่านทั้งสองระบบ
นอกจากนี้กล้อง Lumix GH5 และ Lumix S1R ไม่มี Low Pass Filter จึงให้ความคมชัดขับเน้นรายละเอียดในงานมาโครได้เป็นอย่างดี พอขึ้นจอภาพขนาดใหญ่ก็ยังแสดงรายละเอียดของภาพได้อย่างไม่มีบกพร่องแต่อย่างใด การถ่ายทอดสีสันเมื่อนำเข้ามาโปรแกรมตัดต่อเพื่อแก้การอมสีน้ำเงิน หรือสีเขียวจากสภาพแสงใต้น้ำก็ยังสามารถปรับแก้ได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ
Lumix GH5 with Housing
ศุภชัย วีรยุทธานนท์ – ช่างภาพอิสระ, ช่างภาพใต้น้ำ เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ถ่ายภาพใต้น้ำในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เกาะสิปาดัน มาเลเซีย, เกาะบาหลี หมู่เกาะราชาอัมพัท เกาะมานาโด, ช่องแคบเลมเบห์ ในประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะมัลดีฟ, หมู่เกาะปาเลา, หมู่เกาะกาลาปากอส - เกาะ Cocos ในทวีปอเมริกาใต้, การดำน้ำในถ้ำที่ประเทศเมกซิโก ที่หมู่เกาะ Socorro, ฮาวาย, ถ่ายวาฬหลังค่อม ที่เกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผลงานการถ่ายสารคดี เคยฝากผลงานการถ่ายสารคดีใต้น้ำว่าด้วยเรื่องชนเผ่าบาเจา ในช่องThai PBS และสารคดีวาฬ และฉลามในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผลงานหลายๆ ชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในสื่ออื่นอย่างหนังสือ และนิตยสารเป็นต้นรวมถึงได้รับรางวัลต่างๆมาแล้วทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
บทความแนะนำ