เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กรมศิลปากร นำโดย ม.ร.ว.เทพกมล และคุณหญิงขวัญตา เทวกุล เป็นประธานใน พิธีมอบรางวัลและเปิดนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 20 ประจำปี 2561 โดยมีคณะผู้จัดงาน คุณเมธ์วดี นวพันธ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ, คุณประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากร และศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานกรรมการตัดสิน ร่วมด้วยคณะผู้บริหารจากพานาโซนิคเข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลและได้รับคัดเลือกให้ร่วมเข้าแสดงถึง 60 ภาพ ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ภายใต้แนวความคิด “เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่าง นวัตกรรม ศิลปะ และความสุข เพื่อนำไปสู่ ความสมบูรณ์ให้กับชีวิต เช่น "ลิงที่รอดชีวิต" ผลงานรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 โดย น.ส.ศิริพร เพ็ชรเนตร ใช้เทคนิคสีอะคริลิคถ่ายทอดแนวความคิดที่มีมานานคือการรณรงค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์แต่ผ่านการสื่อสารด้วยมุมมองใหม่ที่ทันสมัย มีอารมณ์ขันมากขึ้น ผลงาน “ไทยงม” โดยนายอนันต์ยศ จันทร์นวล ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 ใช้เทคนิคสีน้ำมันและอะคริลิคสื่อให้เห็นความคิดของคนไทยที่ยังยึดติดกับความเชื่อและการกระทำบางอย่างมากเกินไป ผลงาน "จริงหรือหลอก" โดยนายผดุงพงษ์ สารุโณ ที่ถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเพศที่สาม สู่ภาพ Portrait เป็นเสมือนการสร้างโลกอีกใบ ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 และผลงานรางวัลดีเด่น “อนุบาล 2/8” โดยนายวีระยุทธ ใจว่อง ที่ใช้เทคนิคสีอะคริลิคนำเสนอรอยยิ้มและความสุขจากการเฝ้ามองชีวิตของเด็กๆ จากการนึกย้อนกลับไปถึงความสนุกและไร้เดียงสาในวัยเด็กของตัวเอง
นอกจากนี้ยัง ได้จัดให้มีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากศิลปินสองเจนเนอเรชั่น ในหัวข้อ “จิตรกรรมไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ?? ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็นดิจิทัล” โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี, อาจารย์ธีระชัย สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาศิลปกรรม ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ
จันทรเกษม, น.ส.ศิริพร เพ็ชรเนตร รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 และนายสุรเดช วัฒนาประดิษฐชัย รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 18 ให้เกียรติร่วมเสวนา เพื่อร่วมสร้างแนวทางการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลต่อไป