Firework in the Sky ถ่ายพลุกับ Lumix S5
ปลายปีคือช่วงเวลาแห่งเทศกาลและการเฉลิมฉลอง หลายที่ก็เพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจด้วยการแสดงพลุ ช่วงนี้คือสวรรค์สำหรับช่างภาพที่ต้องการฝึกมือการถ่ายภาพพลุ สามารถเลือกไล่เก็บภาพทดสอบฝีมือ ทดสอบอุปกรณ์กันได้ตั้งแต่ งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เทศกาลพลุพัทยาที่จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน พลุเปิด-ปิดงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.๙ ช่วงเดือนธันวาคม รวมถึงงานเฉลิมฉลองปีใหม่ก็มีหลายที่ เช่น ที่ Icon Siam ไล่ยาวไปถึงงานพระนครคีรี หรือพลุเขาวังช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น
ซึ่งการที่จะเลือกไปถ่ายพลุที่ไหน โลเคชั่นแต่ละที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับการจัดองค์ประกอบภาพอย่างยิ่ง เช่น จะมีฉากหน้า ฉากหลังอะไร ที่เสริมให้ภาพพลุโดดเด่น ดูมีเรื่องราวกว่าการถ่ายภาพพลุอย่างเดียว เช่น การถ่ายพลุที่พัทยา หากเห็นฉากหน้าเป็นชายหาด เห็นผู้คนคลาคล่ำถือโทรศัพท์มือถือถ่ายพลุกันเต็มหาด รูปก็สามารถเล่าเรื่องราวได้ หรือพลุที่เขาวัง ก็มีฉากหลังเป็นเจดีย์บนเขาสูงทำให้ได้บรรยากาศอีกแบบ หรือถ้าถ่ายพลุที่สุโขทัยก็จัดองค์ประกอบภาพให้อุทยานประวัติศาสตร์ องค์พระพุทธรูป เป็นฉากหลัง ดังนั้นการถ่ายพลุจึงจำเป็นต้องหาโลเคชั่นเหมาะๆ ต้องรู้ว่าพลุจุดจากตรงไหน รวมถึงตารางเวลาในการจุดพลุ
อุปกรณ์
เมื่อได้โลเคชั่นแล้ว มาถึงอุปกรณ์ที่ผมเตรียมไปในครั้งนี้ คือ
* กล้อง Lumix S5
* เลนส์ Lumix S Pro 24-70 mm
* ขาตั้งกล้อง
* สายลั่นชัตเตอร์
ผมมุ่งหน้าไปพัทยา ด้วยความตื่นเต้น เพราะอยากทดสอบใช้ Lumix S5 ในการถ่ายพลุ ทำไมต้องตื่นเต้น ก็เพราะความดีงามของกล้อง Lumix S5 คือมี function Live Composite ซึ่งทำให้สามารถถ่ายภาพพลุจบหลังกล้องได้เลยในทันที ซึ่งหากเราใช้กล้องรุ่นที่ไม่มีฟังค์ชั่นนี้อาจต้องเพิ่มขั้นตอนหลังการถ่าย โดยใช้เทคนิคซ้อน layers ใน Photoshop โดยใช้คำสั่ง lighten ซึ่งคำสั่งนี้จะนำเอาส่วนสว่างของภาพคือพลุที่เป็นชั้นๆ มาซ้อนกัน ในการสร้างภาพใหม่ให้ได้ตามความพอใจ
ตัวอย่างการซ้อนภาพใน Photoshop
Live Composite
การทำงานของ Live Composite ใน Lumix S5 นั้นสะดวก ง่ายดายกว่า นั่นคือกล้องจะบันทึกภาพไฟพลุไว้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อเริ่มกดชัตเตอร์ และหยุดการบันทึกเมื่อเราปล่อยชัตเตอร์ โดยเราจะเห็นภาพพลุค่อยๆ ปรากฏขึ้น รวมเป็นภาพขี้นมาในเสี้ยววินาที บนจอ LCD
เมื่อเราสามารถเห็นภาพได้หลังจอ Live View เราจึงสามารถเลือกได้ว่าต้องการถ่ายพลุในช่วงระยะเวลานานแค่ไหน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มถ่ายจากเมื่อได้ยินเสียงพลุยิงจากฐานยิง ยาวไปจนกระทั่งเสียงปังสุดท้ายของพลุลูกที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดในชุดนั้นระเบิดออกมาจึงค่อยหยุดการบันทึก กล้องก็จะทำการรวมภาพพลุทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนภาพสุดท้ายออกมาเป็นหนึ่งภาพให้ ก็จะเห็นได้ว่าการถ่ายพลุด้วยกล้อง Lumix S5 ช่างง่ายดาย ไม่ยุ่งยากจบได้ในกล้องโดยไม่ต้องพึ่งโปรแกรมอื่นๆ
หมายเหตุ - อีกสิ่งที่สำคัญคือจะต้องมีสายลั่นชัตเตอร์เป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยให้ได้ภาพที่ไม่สั่นไหว
S5 ใช้ฟังก์ชั่น Live Composite เนื่องจาก Lumix S5 สามารถดูได้เลยว่าเราต้องการพลุนานแค่ไหนอย่างไรหลังจอ Live View การถ่ายภาพจึง
ตัวอย่างการตั้งค่ากล้อง
F8 - F11 ISO 100-160 1/3 sec - 2 sec
Tips 1
ขนาดของพลุจะลดหลั่นกันไปตามความสูง ยิ่งพลุที่โดนยิงขึ้นไปสูงจะมีขนาดใหญ่มากที่สุด ทั้งนี้ต้องเผื่อเฟรมของภาพไว้ตามขนาดของพลุด้วย ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนหลังจากเห็นการจุดพลุแล้วในชุดต้นๆ ของการจุดหรือวันแรกๆ ของการจุดพลุ
Tips 2
การตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ไวก็จะทำให้สามารถเก็บรายละเอียดได้อีกแบบเช่น สะเก็ดเล็กๆ จะไม่ลากยาวเป็นเส้น ทำให้ดูเหมือนดอกแดนดิไลออน
สรุป
* ผลของการใช้ Lumix S5 และ function Live Composite ในการถ่ายพลุครั้งนี้ นับว่าเป็นที่น่าพอใจสำหรับผม โดยปกติแล้ว Live Composite มักจะใช้ในการถ่ายเส้นไฟรถวิ่งในช่วงเย็นหรือค่ำ แต่ครั้งนี้เป็นการประยุกต์เพื่อถ่ายภาพพลุ ซึ่งในโหมดนี้กล้องจะเก็บภาพแรกเพื่อใช้ในการลด Noise ภายในภาพ
* สิ่งที่สำคัญในการถ่ายพลุ หลักๆ แล้วนอกจากเรื่องกล้อง และอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือการหาจุดโลเคชั่นในการถ่ายพลุ จำเป็นจะต้องดูว่าพลุจุดจากจุดไหน ต้องทราบตารางเวลาในการจุดพลุเพื่อการเตรียมการ และที่สำคัญโลเคชั่นดีๆ ก็มักจะมีช่างภาพจับจองกันเป็นจำนวนมากจึงควรต้องเผื่อเวลาในการจองมุมสวยๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ด้วย
* และแน่นอนว่าพลุต้องจุดในเวลาหัวค่ำ ยากันยุง น้ำ อาหาร เป็นสิ่งที่ควรติดไปด้วยนะครับ
ขอให้ถ่ายพลุสวยๆ ได้อย่างสนุกสนานนะครับ
ภาพพลุจากงาน Amazing Thailand Countdown
2021- Iconsiam
ศุภชัย วีรยุทธานนท์ – ช่างภาพอิสระ, ช่างภาพใต้น้ำ เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ถ่ายภาพใต้น้ำในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เกาะสิปาดัน มาเลเซีย, เกาะบาหลี หมู่เกาะราชาอัมพัท เกาะมานาโด, ช่องแคบเลมเบห์ ในประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะมัลดีฟ, หมู่เกาะปาเลา, หมู่เกาะกาลาปากอส - เกาะ Cocos ในทวีปอเมริกาใต้, การดำน้ำในถ้ำที่ประเทศเมกซิโก ที่หมู่เกาะ Socorro, ฮาวาย, ถ่ายวาฬหลังค่อม ที่เกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผลงานการถ่ายสารคดี เคยฝากผลงานการถ่ายสารคดีใต้น้ำว่าด้วยเรื่องชนเผ่าบาเจา ในช่องThai PBS และสารคดีวาฬ และฉลามในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผลงานหลายๆ ชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในสื่ออื่นอย่างหนังสือ และนิตยสารเป็นต้นรวมถึงได้รับรางวัลต่างๆมาแล้วทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล