เมืองโบราณ Light Fest แสงสีเสียงกับ Lumix S5
Village of Illumination : เมืองโบราณ ไลท์ เฟส คือเทศกาลประดับไฟฤดูร้อน ที่จัดขึ้นที่เมืองโบราณ ในโซนภาคกลาง โดยงานจัดแสดงตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2564
นี่คือครั้งแรกที่เมืองโบราณจะถูกฉาบสีสันในยามค่าคืนให้อลังการ สว่างไสวด้วยเทคโนโลยี มัลติมีเดีย สื่อผสม ที่ทันสมัย โดยในบางโซนจะมีการใช้ Panasonic Projector คุณภาพสูง ฉายภาพ mapping ลงไปบนอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้เกิดเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ
นี่คือเทศกาลที่ช่างภาพไม่ควรพลาด ผมจึงไปร่วมชมความตระการตานี้พร้อมกับ กล้อง Lumix S5 และเลนส์ Lumix S Pro 16-35 มม.
ไฮไลท์หลักที่จะเห็นเป็นที่แรกที่เดินเข้าไปในงาน คือโซนอนุสรณ์สถานสงครามยุทธหัตถี ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์สู่ศาสตร์แห่งแสงศึกสงคราม พระแสงของ้าวแห่งการเปลี่ยนแปลง และ อิสรภาพ
ไฮไลท์ที่สอง เดินข้ามสะพานทางขวามือ เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทและพระที่นั่งจอมทองจำลอง ซึ่งจัดแสดงความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมอยุธยา โดยการฉายภาพจาก Projector Panasonic ฉายทาบลงบนพระที่นั่งจำลอง แสงที่ฉายลงบนพระที่นั่งมีการเคลื่อนไหว ไร้รอยต่อลงบนประตูหน้าต่างผนังกำแพงได้อย่างสมบูรณ์
จากนั้นเดินข้ามสะพานไม้มาใกล้ๆ กันจะเห็น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจำลอง ซึ่งแสดง แสง สี เสียงเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการ Mapping บนผนังภายนอกตัวอาคาร
ไฮไลท์ทั้ง 3 จุด ที่มีการ Mapping นั้นสามารถเดินถึงกันได้ทั้งสามจุด ด้วยระยะทางที่เดินสบายๆ แดดไม่ร้อน ไม่เหนื่อย นอกจากนี้ยังสามารถเข้าชมการประดับประดาไฟและแสงสีเสียงยามค่ำ ในโซนอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น คุ้มขุนแผน หอพระแก้ว พระตำหนักคำหยาด มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี สวนรามเกรียรติ์ เป็นต้น
ผมเลือกไปงานวันที่ 3 เมษายน เพราะเป็นวันที่จะมีการจุดพลุด้วย นับเป็นไฮไลท์ที่น่าถ่ายมากการที่จะได้ภาพอาคารในเมืองโบราณประดับแสงไฟเป็นฉากหน้า และมีพลุเป็นองค์ประกอบขับเน้นซึ่งกันและกันนั้นไม่ใช่โอกาสที่มีง่ายๆ นัก
สำหรับการถ่ายพลุนั้น ฟังก์ชั่น Live Composite ในกล้อง Lumix คือฟังก์ชั่นที่ผมชอบมาก จากที่เคยลองใช้ฟังก์ชั่นนี้ตอนที่มีอยู่แต่ในกล้อง Micro Four Third เท่านั้น แต่วันนี้ฟังก์ชั่นนี้มีอยู่ในกล้อง Full Frame Lumix S5 แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และไม่คาดคิดว่าจะสามารถนำมาใส่ในกล้องฟูลเฟรมได้ คิดเอาเองว่าจะต้องใช้การประมวลผล และการจัดเก็บบันทึกข้อมูลภาพภายในกล้องแบบมหาศาล แต่ในที่สุด Lumix ก็จัดให้ได้แล้ว
นอกจากกล้องแล้วผมเตรียมเลนส์ไปแค่ตัวเดียว คือเลนส์ Lumix S Pro 16-35 มม. เพราะได้วางแผนไว้แล้วว่าเลนส์ระยะนี้จะสามารถครอบคลุมระยะการถ่ายอาคารต่างๆ ในเมือง รวมถึงสามารถถ่ายพลุได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ไปมา
การตั้งค่ากล้องการถ่ายพลุมาตราฐาน ใช้ F8 ISO200 ในโหมด Live Composite ซึ่งกล้องจะทำงานเมื่อตั้งค่าการถ่ายภาพแบบ Manual คือ Mode Mเท่านั้น โดยค่า Shutterspeed 3.2 วินาทีในทุกภาพ ลั่นชัดเตอร์ก่อนหนึ่งครั้งเพราะกล้องจะทำการบันทึกภาพ Black Frame เพื่อใช้ในการประมวลผลลด Noise กดเมื่อได้ยินเสียงปังจากพลุลูกแรกในเวลาประมาณ 20:30 น. ตามกำหนดการ และสิ้นสุดเมื่อมองจากหลังกล้องที่กล้องทำการ Live Composite ให้เราเห็น เป็นฟังก์ชั่นที่ช่วยให้การถ่ายภาพพลุเป็นเรื่องกล้วยๆ แบบจบในเฟรมเดียว ได้ทั้ง RAW ไฟล์และ JPG แล้วแต่จะเลือกตั้งค่าไว้
จากพลุลูกแรก จนถึงพลุลูกสุดท้าย ใช้เวลาการยิงพลุประมาณแค่สองนาทีครึ่งเท่านั้น จากการใช้ฟังก์ชั่น Live Composite
ผมได้ภาพพลุที่สวยงามมาถึง 9 แบบ 9 ภาพ
ก่อนที่จะถึงช่วงเวลาจุดพลุ ผมก็ได้เดินเก็บภาพพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พร้อมสำรวจมุมสำหรับการถ่ายพลุ ที่จะถูกจุดขึ้นด้านหลังพระที่นั่งองค์นี้
มุมที่สวยที่สุดของพระที่นั่งนี้ น่าจะเป็นมุมเกือบตรงสมมาตร ผมได้เก็บภาพในช่วงเวลา Blue Hour คือประมาณหกโมงกว่า ในตอนที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท ฉากหลังจึงยังไม่ดำมืด แต่ได้ท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม แต่เนื่องจากมุมนี้ไม่ได้เป็นทิศตะวันตก เราก็จะไม่ได้สีของพระอาทิตย์ตกบนท้องฟ้า
แต่ถึงมุมนี้จะสวยแต่อาจจะไม่เหมาะกับการถ่ายพลุ เนื่องจากมุมหน้าตรงนี้อาจจะไม่ได้พลุแบบเต็มๆ อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่ให้ถอยหลังได้อีกแล้ว เนื่องจากติดสิ่งก่อสร้างอื่นอยู่ ผมจึงตัดสินใจย้ายมุมสำหรับการถ่ายพลุไปยังจุดอื่นแทน
* ภาพช่วง Blue Hour ใช้ F กว้างที่สุดของเลนส์ Lumix S Pro 16-35 F4
f8 สปีด 3.2 วินาที ISO100
* ส่วนภาพกลางคืน ใช้ f4 สปีดใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีการฉายแสงจาก Projector mapping ลงบนพระที่นั่ง หากใช้สปีดนานกว่านั้น แสงจากการ mapping จะเคลื่อนไหว เปลี่ยนไปจนไม่สามารถมองได้ชัดเจน
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจำลอง โซนจัดแสดง แสง สี เสียง สื่อมัลติมีเดียผสม กรุงรัตนโกสินทร์ เมืองฟ้าอมรของชาวสยาม
ภาพที่ฉาย mapping ลงบนพระที่นั่งค่อนข้างหลากหลาย และมีจังหวะการเปลี่ยนแปลงบ่อย สลับกับช่วงที่ไม่เคลื่อนไหวบ้าง ผมพยายามลองถ่ายวีดีโอดู จึงปรับค่ากล้องคงที่ไว้ที่ f4 และ ISO เท่าเดิมตลอดทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ
F4 สปีด 2 วินาที ISO400
ส่วนแสดงแสงสีประดับไฟในจุดอื่นๆ ตรงนี้มีการจัดเป็นต้นไม้ประดับเส้นไฟเรืองแสง และเปลี่ยนสีไว้ ผมเลยเอาเส้นไฟมาไว้ใกล้ๆ เลนส์เพื่อให้เกิดโบเก้แสงฟุ้งๆ เป็นฉากหน้า เพื่อนำสายตาไปยังพระพุทธบาทจำลองด้านหลัง
F4 สปีด 0.5 วินาที ISO100
ภูเขารามเกียรติ์ ประดับไฟไว้สองแบบเน้นที่ตัวรูปปั้นผมว่าคอนทราสสวยดี ตัดกับน้ำที่ไหล แต่เนื่องจากอยากให้น้ำฟุ้งเป็นสาย และตรงนี้แสงค่อนข้างน้อย จึงเปิดหน้ากล้องให้นานขึ้น
F8 สปีด 5 วินาที ISO100
สำหรับโซนอนุสรณ์สงครามสถานยุทธหัตถี ถึงแม้จะเป็นมุมแรกที่พบเมื่อเดินเข้ามา แต่ผมเลือกที่จะเก็บภาพในช่วงสุดท้ายก่อนออกจากงานแทน เนื่องจากคนที่มาถึงงานจะรุมถ่ายรูปมุมนี้ก่อน ทำให้คนค่อนข้างหนาแน่นในช่วงแรกๆ ไม่สะดวกกับการถ่ายรูป ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลย เพราะช่วงงานเลิก คนน้อยกว่าอย่างที่คิดจริงๆทำให้ตั้งขาตั้งกล้องได้ง่าย
ภาพนี้เลือกใช้สปีดที่ไวขึ้นจึงดัน ISO เพราะการแสดงไฟมัลติมีเดียเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
F7.1 สปีด 0.4 วินาที ISO320
Lumix S5
สรุปภาพรวมในการถ่ายครัั้งนี้
Lumix S Pro
16-35 mm / F4
กล้อง Lumix S5
* เป็นกล้องฟูลเฟรมขนาดเล็ก แต่อัดแน่นไปด้วยประสิทธิภาพจริงๆ ในส่วนของฟังก์ชั่นที่เลือกมาใช้งานในครั้งนี้สำหรับพลุโดยตรงเลยคือ Live Composite ซึ่งจริงๆ ผมเคยทดสอบสองครั้งแล้วติดใจมาก ได้มีโอกาสเอาไปถ่ายดาวครั้งนึงแต่เนื่องจากผิดพลาดเองเลยไม่ได้รูปนำมาให้ชมกัน ถ้ามีโอกาสอีกคงได้เป็นการถ่ายดาวด้วย Live Composite ที่ผมเห็นหลังกล้องแล้วบอกได้เลยว่าดีแน่นอน
* ตัวเนื้อไฟล์เอง และ Noise เวลาทำภาพไม่เห็นเลย ดูเนียน ซึ่งอาจจะมีบ้างแต่มองไม่ออก ภาพบางภาพที่ส่วนมืดไม่สามารถถ่ายมาจบเป็น jpg แต่พอนำไฟล์ RAW มาเปิดส่วน Shadow ขึ้นภาพยังคงรายละเอียด และรักษาคุณภาพโดยแทบจะไม่เห็น Noise
* ขนาดเล็ก ที่เล็กกว่ารุ่นพี่อย่าง S1 ผมใส่กับเลนส์ 16-35 แล้วจัดใส่กระเป๋าเล็กๆ ชีวิตสบาย เมื่อใส่กับเลนส์ขนาดกลางๆ อย่าง16-35 บาลานซ์ความกระชับมือในการถ่าย จุดถ่ายเทน้ำหนักที่เลนส์และกล้องจัดว่าดี
* แบตเตอรี่ ลืมเรื่องนี้ไปเลยไม่ได้สนใจ สุดท้ายเพิ่งมาคิดได้ว่าอยู่ได้นานเลยไม่ได้กังวลหรือต้องหมั่นเช็ค
* เรื่องการใช้งานใช้ได้ดีทั้งภาพนิ่ง และวีดีโอเลย จัดว่าเป็นกล้องฟูลเฟรมน้องเล็กของพานาโซนิคที่จัดจ้านในทุกย่านจริงๆ
* จุดที่ผมยังติดอยู่คือ ปุ่มควบคุมต่างๆ อาจจะเล็ก และเนื่องจากไม่ชินกับกล้อง เพราะดันไปเทียบกับปุ่มและขนาดที่ใหญ่กว่าอย่างตระกูล S1
เลนส์ Lumix S Pro 16-35
* เอามาตัวเดียวเที่ยวได้ทั้งงาน พบว่าเอาอยู่ เหมาะกับการถ่ายสถาปัตยกรรมเพราะไม่เบี้ยวไม่โป่ง คมยันขอบ
* คลัทช์แมนนวลโฟกัสไม่ต้องเป็นแบบสลับสวิทช์ ผมว่าใช้งานได้ไวสะดวกกว่าการสับสวิทช์ เพราะอารมณ์เหมือนกับการซูมเข้าออกจึงทำงานได้ไว
* เลนส์พอลองถ่ายมีแสงเข้าแบบ Spot Light ย้อนแสง Ghost และ Flare ไม่เห็นเลย น่าจะเพราะ coating ผิวเลนส์ดีมากๆ
* คมตั้งแต่ f4 ขอบภาพกลางภาพก็คมไม่ต่างกัน โบเก้เมื่อเปิดกว้างก็สวยงามนุ่มนวลสไตล์ Lumix ส่วนแฉกไฟก็ได้พอประมาณไม่น้อยไม่มากไปสำหรับผม
ศุภชัย วีรยุทธานนท์ – ช่างภาพอิสระ, ช่างภาพใต้น้ำ เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ถ่ายภาพใต้น้ำในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เกาะสิปาดัน มาเลเซีย, เกาะบาหลี หมู่เกาะราชาอัมพัท เกาะมานาโด, ช่องแคบเลมเบห์ ในประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะมัลดีฟ, หมู่เกาะปาเลา, หมู่เกาะกาลาปากอส - เกาะ Cocos ในทวีปอเมริกาใต้, การดำน้ำในถ้ำที่ประเทศเมกซิโก ที่หมู่เกาะ Socorro, ฮาวาย, ถ่ายวาฬหลังค่อม ที่เกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผลงานการถ่ายสารคดี เคยฝากผลงานการถ่ายสารคดีใต้น้ำว่าด้วยเรื่องชนเผ่าบาเจา ในช่องThai PBS และสารคดีวาฬ และฉลามในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผลงานหลายๆ ชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในสื่ออื่นอย่างหนังสือ และนิตยสารเป็นต้นรวมถึงได้รับรางวัลต่างๆมาแล้วทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล