Time Lapse by Lumix
เมื่อเวลาไหลเลื่อน เปลี่ยนภาพนิ่งเป็นภาพเคลื่อนไหว
ตลอดระยะเวลาที่ผมถ่ายรูปมา การถ่าย time lapse เป็นอีกรูปแบบของการเล่าเรื่องด้วยภาพที่ผมคิดว่ามีเสน่ห์เฉพาะตัว เพราะมันสามารถถ่ายทอดช่วงจังหวะเวลาที่ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เมฆไหล การที่เราถ่ายภาพนิ่งในช่วงเหตุการณ์นั้นๆ เป็นจำนวนหลายๆ ภาพ แล้วเอามาร้อยเรียงต่อกันเป็นคลิปวีดีโอ มันน่าตื่นเต้น อารมณ์เดียวกับการคอยดูภาพที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาตอนล้างฟีล์มในห้องมืดเลยทีเดียว
ซึ่ง time lapse ที่ผมถ่าย ก็มีทั้งถ่ายเมือง และธรรมชาติ ส่วนตัวแล้วผมว่าถ่ายเมืองอาจจะง่ายกว่านิดหน่อยในแง่การเตรียมการ การหาข้อมูล ส่วนธรรมชาติ ต้องอาศัยโชค และการรอคอยจังหวะ
สำหรับกล้องที่ผมใช้คือ Lumix ทั้ง micro four third และ full frame ซึ่งเป็นกล้องที่มี mode time lapse ที่ช่วยรวม file หลังถ่ายให้ในเกือบทุกรุ่น ช่วยให้มือใหม่ หรือแม้แต่มืออาชีพ ถ่าย time lapse ได้สะดวกขึ้น
Time lapse ใต้น้ำครั้งแรก
Time Lapse ใต้น้ำครั้งแรกของผม เกิดขึ้นที่ “หินแดง” จุดดำน้ำขึ้นชื่อในทะเลอันดามันใต้ หลังจากเสร็จภารกิจเก็บภาพใต้น้ำอย่างอื่นเรียบร้อยแล้ว ผมจึงเอาขาตั้งกล้องใต้น้ำติดลงไปกับตัว Housing กันน้ำที่ใส่กล้อง Lumix GH5 พร้อมเลนส์มุมกว้าง Panasonic Lumix G Vario 7-14mm F4 เพื่อเก็บเป็นภาพ Time lapse
ผมปรับปุ่มหมุนไปยังโหมด Time lapse ตั้งไว้ที่ประมาณสี่ร้อยภาพก่อน แต่ตอนที่กดปุ่มหยุดโหมด Time lapse นั้น ก็ได้ภาพชุดมาประมาณสามร้อยกว่าภาพทำเป็น Time lapse สิบกว่าวินาทีอย่างที่เห็น
การตั้งค่านั้น ผมเลือกที่จะตั้งให้เป็น Manual ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
- Custom White Balance ที่พื้นทรายสีขาวด้านหน้า เพื่อให้ภาพไม่อมฟ้า ทำให้ภาพน้ำใต้ทะเลดูใสและเป็นธรรมชาติ สีของปะการังจะเป็นสีน้ำตาลอย่างที่ควรจะเป็นของปะการังโขดที่สุขภาพดี
- Manual Focus หินกลางเฟรมภาพ กล้องจะได้ไม่โฟกัสผิดพลาด เพราะถ้าใช้โหมด Auto Focus หากมีอะไรตัดผ่าน กล้องอาจจะไปจับโฟกัสภาพ เคลื่อนไปจากที่ตั้งใจ
- ใช้โหมด บันทึกภาพเป็น Manual หรือ Aperture Priority ก็ได้
- บันทึกภาพเป็น RAW เพื่อนำมาครอป หรือใช้ขนาดไฟล์สูงสุดของกล้อง จะได้มาทำการแพนหรือซูมในภาพภายหลังได้
- กล้อง Lumix GH5 เลนส์ Panasonic Lumix G Vario 7-14mm F4
Time Lapse @ Hongkong
ฮ่องกง เป็นอีกเมืองที่น่าถ่าย city scape และ time lapse มาก เมื่อมีโอกาส ผมจึงไม่พลาด
ผมตั้งกล้องบนฝั่ง Kowloon ความโชคดีโดยที่ไม่ได้ตั้งใจไว้คือ วันนั้นเป็นวัน Earth Day ซึ่งจะมีการปิดไฟที่ตัวตึกเป็นเวลาพักใหญ่ๆ เลยจะได้ Time lapse ที่เห็นไฟตัวตึกต่างๆ เริ่มปิดลง
เริ่มต้นถ่ายเวลา 19:23 เสร็จสิ้น 19:51 รวม 28 นาที ได้ภาพมา 551 ภาพ รวมเป็นคลิป Time lapse ความยาว 18 วินาที
- ตั้งค่ากล้อง Manual Exposure f9 1.3 วิ ISO400 interval ระหว่างภาพ 3 วินาที
- กล้อง Fullframe LumixS1 และเลนส์ Panasonic Lumix S 24-105mm f/4 Macro O.I.S. ปิดกันสั่นที่เลนส์
Time Lapse @ เสม็ดนางชี
สำหรับคลิปนี้ผม ใช้ภาพทั้งหมด 600 ภาพรวมเป็นคลิป Time lapseความยาว 20 วินาที ตั้งค่าวีดีโอ 30 เฟรมต่อวินาที เริ่มต้นถ่ายเวลา 6:14 เสร็จสิ้น 6:44
- ตั้งค่ากล้อง Aperture Priority f14 ISO64 interval ระหว่างภาพ 3 วินาที ตั้งค่า f สูงกว่าปกติเพราะต้องการให้แสงอาทิตย์เป็นแฉก
- ตั้งให้กล้องปรับเปลี่ยนค่า Exposure อัตโนมัติ เพื่อเกลี่ยแสงในฟังค์ชั่น Time lapse ของกล้อง ให้กดเป็น Exposure Leveling
- กล้อง Full frame LumixS1R เลนส์ 14-24 mm
Day To Night, Night To Day
การตั้งถ่ายภูมิทัศน์ ตั้งแต่ท้องฟ้ายังมืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น จนพระอาทิตย์ขึ้น ในตอนเช้ามืดจะเรียกว่า Night to Day หรือว่าตั้งแต่ท้องฟ้ายังสว่างก่อนพระอาทิตย์ตก จนพระอาทิตย์ลับตาไป จากแสงไฟบนตึกที่ค่อยๆ ไล่ทยอยเปิดแสงจนขึ้นที่ละดวงจนสว่างเต็มอาคาร เราเรียกช่วงเวลาการถ่ายแบบนี้ว่า Day To Night จากกลางวันเป็นกลางคืน การถ่ายเหล่านี้ใช้เวลานานกว่าแบบอื่น จึงควรเตรียมความพร้อมในการหาข้อมูลก่อนถ่าย
การเตรียมความพร้อมในการถ่ายแบบ Day To Night
- ทำการบ้าน หาข้อมูลเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และตก
- เตรียมเมมโมรีให้เพียงพอต่อเวลาการถ่าย Time lapse
- ใช้ Electronic Shutter เพื่อรักษาม่านชัตเตอร์ปกติ
- ระวังเรื่องฝุ่นบนหน้าเซนเซอร์เสมอ เพราะการตั้งค่ารูรับแสงที่แคบจะสามารถทำให้เห็นฝุ่น และสิ่งสกปรกบนชัตเตอร์อย่างชัดเจน
- เตรียมแบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ที่สามารถเสียบต่อเข้ากับตัวกล้องในขณะถ่ายได้
- ขาตั้งกล้องที่แข็งแรง มั่นคงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพราะปัญหาสำหรับจุดถ่ายที่คนนิยมคือ โดยมากเมื่อถึงเวลาที่ดีที่สุด มีโอกาสมากที่คนอื่นอาจจะขยับขาตั้งกล้อง มาโดนกล้องที่เราตั้งถ่าย Time lapse ไว้
- ควรปิดกันสั่นในกล้อง และเลนส์ ในการถ่ายภาพ Time lapse
- การเลือกอัตราส่วนในการถ่ายภาพ และ VDO Time lapse ต่างกัน ภาพถ่ายปกติเราถ่ายมาในอัตราส่วน 4:3 หรือ 3:2 ส่วนวีดีโอปกติ และสื่อที่รองรับขนาดภาพอย่างในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจอโทรทัศน์ใช้อัตราส่วน 16:9 การบันทึกภาพเป็น Raw ไฟล์ช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการจัด ตัด สัดส่วนภาพในภายหลัง แต่นั่นหมายความว่าต้องมีการเผื่อการวางเฟรมตำแหน่งภาพไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว หรือถ้าตั้งอัตราส่วนภาพ 16:9 ในการบันทึก jpg กล้องก็จะบันทึกภาพตามสัดส่วนที่ตั้งไว้
- สำหรับการ process ภาพในภายหลังเพิ่มเติม
จะมีโปรแกรมปรับเกลี่ยแสงในคอมพิวเตอร์เช่น Panolapse หรือ LRTimelapse เป็นต้น
Time Lapse @ พระเมรุมาศ
Time lapse Night to Day ที่ตั้งกล้องถ่ายพระเมรุมาศตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้นและมีแสงสว่างขึ้นมา
ถ่ายโดยกล้อง Lumix GH5
Time Lapse @ Singapore
Time Lapse Day To Night ในภาพชุด Singapore
- วัดพระเขี้ยวแก้ว ไฟในเมืองค่อยๆ สว่างขึ้น ในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มมืดลงเรื่อยๆ
- ส่วน VDO Time Lapse เส้นถนนเข้าออกเมือง เป็นการตั้งถ่ายตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตก จนถึงลำแสงสุดท้ายที่ท้องฟ้าเริ่มมืด พร้อมกับที่ไฟจากการจราจร และไฟจากตึกระฟ้าค่อยๆ สว่างไสวขึ้นมาแทน
ถ่ายโดยกล้อง Lumix S1R
Time Lapse @ The Golden Moutain
Day to Night ที่ภูเขาทอง ภาพพระอาทิตย์ตกลงเสียบยอดภูเขาทอง เป็นภาพที่จะถ่ายได้เพียงปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงต้นเดือนมีนาคม และตุลาคมของทุกปี โดยในแต่ละวันพระอาทิตย์จะค่อยๆ เลื่อนตำแหน่งเขยิบไปเรื่อยๆ ทีละนิดๆ
ถ่ายโดยกล้อง Lumix S1R
ศุภชัย วีรยุทธานนท์ – ช่างภาพอิสระ, ช่างภาพใต้น้ำ
เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ถ่ายภาพใต้น้ำในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เกาะสิปาดัน มาเลเซีย, เกาะบาหลี หมู่เกาะราชาอัมพัท เกาะมานาโด, ช่องแคบเลมเบห์ ในประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะมัลดีฟ, หมู่เกาะปาเลา, หมู่เกาะกาลาปากอส - เกาะ Cocos ในทวีปอเมริกาใต้, การดำน้ำในถ้ำที่ประเทศเมกซิโก ที่หมู่เกาะ Socorro, ฮาวาย, ถ่ายวาฬหลังค่อม ที่เกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผลงานการถ่ายสารคดี เคยฝากผลงานการถ่ายสารคดีใต้น้ำว่าด้วยเรื่องชนเผ่าบาเจา ในช่องThai PBS และสารคดีวาฬ และฉลามในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผลงานหลายๆ ชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในสื่ออื่นอย่างหนังสือ และนิตยสารเป็นต้นรวมถึงได้รับรางวัลต่างๆมาแล้วทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
DC-GH5
Panasonic Lumix GH5 กล้อง DSLM (Digital Single Lens Mirrorless) ที่มาพร้อมคุณภาพของภาพชั้นเยี่ยม ความสามารถในการบันทึกวิดีโอ 4K/60p และ 6K PHOTO สามารถ กันละอองน้ำ / กันฝุ่น / อุณหภูมิที่หนาวเย็นได้ถึง -10-องศา
DC-S1GA-K
กล้อง DSLM (Digital Single Lens Mirrorless) แบบฟูลเฟรมที่มีเซ็นเซอร์ MOS ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล, การบันทึกวิดีโอแบบ 4K 60p/50p และประสิทธิภาพการถ่ายวิดีโออันยอดเยี่ยมสำหรับมืออาชีพ
DC-S1RGA-K
กล้อง DSLM (Digital Single Lens Mirrorless) แบบฟูลเฟรมที่มีเซ็นเซอร์ MOS ความละเอียด 47.3 ล้านพิกเซล และโหมดความละเอียดสูง 187 ล้านพิกเซล