Portrait of Pakistan by LumixG9
เมื่อครั้งที่ผมได้มีโอกาสได้ไปปากีสถาน ก็ได้พบว่าเป็นเมืองที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามเหมาะกับการถ่ายรูปจนอยากจะกลับไปอีก แต่ในทริปนี้นอกจากวิวแล้ว อีกสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามีเสน่ห์มากคือการถ่ายภาพคน หรือ Portrait นั่นเอง
ชาวปากีสถานโดยมากนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อยกกล้องขึ้นถ่ายจึงต้องระวังไม่ถ่ายภาพผู้หญิง และหญิงชาวปากีสถานเองก็ไม่อนุญาตให้เราถ่ายภาพด้วย ถือเป็นมารยาทและข้อควรระมัดระวังอย่างยิ่ง ยกเว้นเด็กผู้หญิงซึ่งก็พอให้ถ่ายได้บ้าง ส่วนชายชาวปากีสถานรวมถึงเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่ยินดีและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเมื่อเห็นกล้องถ่ายรูป
ทริปนี้ผมเลือกใช้กล้อง Lumix G9 โดยมีเลนส์ LEICA DG ELMARIT 200 / F2.8 ซึ่งเป็นระยะฟิกซ์ ผมเลือกใช้เลนส์ตัวนี้เพราะการใช้เลนส์ Tele ที่มี F กว้าง ละลายฉากหลังได้ดี จะทำให้แบบโดดเด่นขึ้นมาจาก background ที่รกกวนสายตา ซึ่งเลนส์ของพานาโซนิคก็ให้สไตล์ที่นุ่มนวลสบายตา ไม่คมจนแข็ง ได้โทนละมุนละไม
ทริปนี้ส่วนใหญ่ท้องฟ้าค่อนข้างขมุกขมัว แต่ด้วยเลนส์ที่มีความสว่างทำให้ได้ภาพที่สดใส บางจังหวะแสงเข้าจากด้านข้าง ทำให้ภาพมีมิติ และเน้นพื้นผิวของวัตถุ
แสง Portrait ที่สวยอีกแบบคือแสงด้านหลัง หรือเฉียงข้างเกือบมาทางด้านหลัง ทำให้เกิดแสงริมไลท์น่าสนใจ เน้นรูปทรงของแบบ และทำให้เห็นเส้นผมได้อย่างชัดเจน
หลักการถ่ายภาพ Portrait โดยทั่วไปก็เหมือนการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ แต่ภาพ Portrait มีคนเป็นองค์ประกอบหลัก ดังนั้นสายตา ท่าทาง สีสันในภาพ หรือแม้แต่แสงที่อยู่ในตา ก็สามารถทำให้ภาพถ่ายสื่อเรื่องราว ดูน่าสนใจมากขึ้นได้ เปรียบเทียบกับภาพที่ไม่เห็นแววตา ภาพนั้นก็จะด้อยกว่า
ภาพชุดนี้ผมอยากจะเรียกว่า เป็นภาพ Portrait ในการท่องเที่ยว ที่ทำหน้าที่เก็บบันทึก และบอกเล่าได้อย่างชัดเจนมากกว่าถ้อยคำใดๆ ถึงผู้คนที่ได้พบเจอในระหว่างการเดินทาง ได้เห็นหน้าตาความเป็นอยู่ ได้เห็นถึงความเชื่อ ศาสนา ผิวพรรณ เชื้อชาติ และความสง่างามของผู้คนที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่นฐาน
เด็กๆ มักให้ความสนใจกล้อง แค่รอจังหวะ ที่หันมาสบตามองกล้อง แล้วใช้โหมดการบันทึกภาพต่อเนื่อง เพื่อจับจังหวะวินาทีที่ให้ภาพอย่างที่ต้องการมากที่สุด (1/1600 f2.8 ISO400)
ภาพหน้าตลาดเล็กๆ แห่งหนึ่ง เด็กน้อยกำลังเอร็ดอร่อยกับขนมปัง แว่บแรกนึกว่าเป็นเด็กผู้ชาย แต่พอดูๆ ไปมีเขียนตาด้วย ถึงคิดว่าคือเด็กผู้หญิงแน่นอน ส่วนข้างหลังชวนให้คิดว่าเด็กชายเสื้อเขียวกำลังเก็บขนมที่เพิ่งซื้อมาเข้ากางเกงหรือว่ากำลังควักขนมออกมาทานบ้าง (1/500 f2.8 ISO100)
บนเส้นทางสัญจร คาราโครัม ไฮเวย์ ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานเชื่อมโยงกับประเทศจีนถนนที่ตัดผ่านหุบเขาสูง ความกว้างเพียงแค่รถสวนกันได้ จัดได้ว่าเป็นถนนที่คดเคี้ยวสูงชันและน่าหวาดเสียวที่สุดสายหนึ่งของโลก เมื่อมีการก่อสร้างทาง หรือหินหล่นทับเส้นทาง รถทั้งหลายทั้งปวงทั้งขามาและขาไปหยุดนิ่งสนิทเป็นเวลาหลายชั่วโมง เวลานั้นอาจเป็นสวรรค์ของการถ่ายภาพบุคคลเพื่อฆ่าเวลาได้ดีที่สุด (1/1250 f2.8 ISO800)
การโดยสารบนหลังคารถบรรทุกที่มีสัมภาระบรรทุกไว้จนเต็มดูจะเป็นเรื่องปกติของผู้คนที่นี่ แต่ดูแปลกตาสำหรับเราที่ได้พบเห็น ชายผู้นี้คาบลูกประคำไว้ในปาก เสื้อผ้า หมวก หรือผ้าพันคอดูเป็นสีเดียวกลมกลืมเป็นโทนไม่ฉูดฉาด และดูมีแคแรกเตอร์บางอย่างที่น่าสนใจ แม้ไม่เห็นแววตาในภาพถ่าย แต่จังหวะแอคชั่นก็สื่อถึงบางอย่างที่ทำให้ต้องบันทึกภาพไว้ (1/1000 f2.8 ISO800)
ผู้คน ข้าวของ รายละเอียดต่างๆ บนรถ อาจจะทำให้เราได้จินตนาการไปถึงเรื่องราวของกลุ่มผู้โดยสารที่อาศัยนั่งท้ายรถกระบะในการเดินทาง ถึงแม้ว่าผมจะใช้เลนส์เทเล และอยู่ห่างจากรถกระบะคันนี้ไม่น้อย แต่การยืนเล็งถ่ายภาพบนหลังคารถก็น่าจะโดดเด่นพอที่จะสะดุดความสนใจของเด็กน้อยแก้มแดงหมวกแดงคนนี้ได้ (1/1250 f2.8 ISO800)
พ่อค้าขายส้มในตลาดข้างทาง สีประตูแผงขายของ และสีของกองส้มด้านหลังสร้างสีสันให้ภาพ แต่ไม่สามารถแย่งความน่าสนใจจากใบหน้าอันคมคายของชาวปากีสถานไปได้ (1/800 f2.8 ISO400)
ภาพเด็กหญิงตาคมกลมโตตามเชื้อชาติ ทำให้จินตนาการไปถึงความสวยงามของหญิงชาวปากีสถานที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นใบหน้าซึ่งอยู่ใต้ผ้าคลุม ว่าคงมีความสวยงามไม่แพ้กัน
ภาพนี้ ทดสอบกันสั่นของเลนส์ในสปีดชัตเตอร์ต่ำกว่าระยะเลนส์ ให้ผลลัพธ์ดีงามอย่างที่เห็น ตามทฤษฎีเพื่อให้ภาพคมชัดพอเพียงโดยภาพไม่สั่นไหว ควรใช้ชัตเตอร์สปีดไม่ต่ำกว่าระยะทางยาวโฟกัสของเลนส์เช่น เลนส์ 200 mm. (เทียบเท่า 400 mm.) ควรใช้ชัตเตอร์สปีดที่ 1/400 เป็นต้นไป (1/200 f2.8 ISO500)
ภาพนี้ถ่ายผ่านกระจกประตูเข้าไปโฟกัสที่ชายในภาพ ทิศทางแสงจากด้านหลังแบบ แสงเฉียงจากด้านหลังเปิดรายละเอียดลอนผมไม่ให้เป็นปื้นดำดูมีมิติ ในขณะที่แสงก็จับเข้าใบหน้าให้เห็นรายละเอียดโครงหน้าของหนุ่มผู้นี้เป็นอย่างดี ภาพนี้ชัตเตอร์สปีดต่ำมากแต่ทั้งกล้องและกันสั่นในตัวเลนส์ทำหน้านี้ได้เป็นอย่างดี (1/30 f4 ISO200)
ภาพนี้ได้ลองใช้เลนส์ 12 mm. f1.4 เมื่อวันกลับเข้ามาเดินซื้อของที่ระลึกในเมือง เจอคุณลุงนั่งอยู่ในร้าน แสงจากหน้าต่างสวยนุ่ม ร่องรอยบนใบหน้าขับคาแรกเตอร์ของแบบให้โดดเด่น ปกติกระจกเมื่ออยู่ในทิศเดียวกันกับแสงจะสะท้อนกวนเข้ามาในภาพ เลยต้องเอาตัวบังแสงใช้เงาเพื่อให้เห็นภาพของลุงที่อยู่ในร้าน บันทึกถ่ายภาพ RAW ไฟล์ เปลี่ยนโหมดสี MONOCHROME ในกล้อง (LEICA DG SUMMILUX 12/F1.4 1/320 f1.4 ISO200)
ศุภชัย วีรยุทธานนท์ – ช่างภาพอิสระ, ช่างภาพใต้น้ำ
เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ถ่ายภาพใต้น้ำในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เกาะสิปาดัน มาเลเซีย, เกาะบาหลี หมู่เกาะราชาอัมพัท เกาะมานาโด, ช่องแคบเลมเบห์ ในประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะมัลดีฟ, หมู่เกาะปาเลา, หมู่เกาะกาลาปากอส - เกาะ Cocos ในทวีปอเมริกาใต้, การดำน้ำในถ้ำที่ประเทศเมกซิโก ที่หมู่เกาะ Socorro, ฮาวาย, ถ่ายวาฬหลังค่อม ที่เกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผลงานการถ่ายสารคดี เคยฝากผลงานการถ่ายสารคดีใต้น้ำว่าด้วยเรื่องชนเผ่าบาเจา ในช่องThai PBS และสารคดีวาฬ และฉลามในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผลงานหลายๆ ชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในสื่ออื่นอย่างหนังสือ และนิตยสารเป็นต้นรวมถึงได้รับรางวัลต่างๆมาแล้วทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
DC-G9
กล้อง DSLM (กล้องดิจิตอลมิร์เลอร์เลสเลนส์เดี่ยว) ที่มอบคุณภาพของภาพที่ดีเยี่ยม พกพาสะดวก และมาพร้อมกับ AF ความเร็วสูง