หนทางของ LUMIX สู่ความเป็นที่สุด
เทคโนโลยีในการออกแบบล้ำสมัยที่เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อความแข็งแรง ทนทาน และการระบายความร้อนที่ดี
—S Series มีความทนทานและสามารถกันแรงกระแทกได้แตกต่างจาก GH Series หรือไม่
Yasuda: ช่างภาพมืออาชีพมากมายต่างก็ชื่นชอบ GH Series แต่สำหรับ S Series เราไม่ได้ใช้มาตรฐานคุณภาพเดิม เรากลับไปเริ่มต้นวางแผนใหม่และตั้งมาตรฐานคุณภาพขึ้นมาใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพขึ้นไปอีกขั้นสำหรับการใช้งานในระดับมืออาชีพ
—ถ้าให้เล่าแบบเฉพาะเจาะจง คุณใช้ความพยายามไปกับอะไรในการพัฒนา
Koji Yasuda
—ตั้งค่ากลไก
Yasuda: เราใช้เทคโนโลยีจำลองบนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อถือได้ ด้วยเทคโนโลยีนี้ เราค้นพบจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นในด้านความแข็งแรงและได้แก้ปัญหาแล้วในขั้นตอนการออกแบบ หากไม่มีกระบวนการนี้ เราอาจมองข้ามจุดอ่อนไปแม้ผลิตภัณฑ์จะผ่านการประเมิน และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนั้น เราจึงใส่ใจและทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์จะมีความแข็งแรงและความทนทานในการใช้งานเป็นพิเศษ
—คุณใช้เกณฑ์เดิมในการประเมินไหม
Yasuda: เรากำหนดมาตรฐานขึ้นมาใหม่ทั้งหมดตามที่ได้กล่าวไป แต่เราใช้เกณฑ์การประเมินที่เข้มงวดกว่ามาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น ในการทดสอบการหล่น เราปล่อยให้กล้องที่ติดตั้งเลนส์ไว้ตกลงมาหลายๆ มุมจากความสูงที่กำหนดไว้จนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้น เราไม่เพียงแค่ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์ในด้านการออกแบบทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังค้นหาจุดอ่อนและเพิ่มขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์
—อะไรคือจุดที่ยากที่สุด
Yasuda: มีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการสร้างความแข็งแรง ทนทาน และการระบายความร้อนที่ดีในเวลาเดียวกัน เราได้สั่งสมความรู้ความเชี่ยวชาญจากการพัฒนา GH Series มาแล้วก็จริง แต่การได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการบันทึกวิดีโอแบบ 4K 60p/50p* ในกล้องฟูลเฟรมนับเป็นเรื่องที่ทำให้สำเร็จได้ยาก การจำลองที่เกิดขึ้นระหว่างการออกแบบในขั้นแรกบ่งชี้ว่าอุณหภูมิภายในกล้องสูงเกินกว่าค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที ดังนั้น เราจึงติดตั้งเฟรมกระจายความร้อนในกล้องเพื่อเพิ่มระดับความแข็งแรงทนทานและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนด้วยในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ เรายังจัดวางแผงวงจรใหม่และเลือกใช้วัสุดอย่างพิถีพิถัน ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องและความทุ่มเท เราจึงสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ไดุ้ทุกข้อและเพิ่มระยะเวลาในการบันทึกต่อเนื่องจนถึงระดับที่ใช้งานได้จริง
* พื้นที่ PAL เท่านั้น
LUMIX ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกระบบ MFTS ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการพัฒนากล้องฟูลเฟรมที่ดีที่สุดด้วยขนาดเท่านี้
—ราว 10 ปีที่แล้ว ในปี 2008 Panasonic ได้เปิดตัวกล้องมิเรอร์เลสเลนส์เดี่ยว (DSLM) เป็นรุ่นแรก นับจากนั้นมา บริษัทก็พยายามลดขนาดและน้ำหนักของกล้องมาโดยตลอดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการใช้งาน ทำไมขณะนี้บริษัทจึงเปิดตัวกล้องฟูลเฟรมที่มีขนาดและน้ำหนักเท่านี้ราวกับกำลังสวนกระแสในปัจจุบัน
Tomohisa Takahashi
—หัวหน้าผลิตภัณฑ์ S Series
Takahashi: เนื่องจากกล้องมิเรอร์เลสไม่มีกระจกข้างใน จึงสามารถติดตั้งเลนส์ที่มีโฟกัสด้านหลังสั้นได้ นี่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการออกแบบเลนส์เท่านั้น แต่ยังทำให้สามารถถ่ายวิดีโอได้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเหตุผลทางด้านโครงสร้าง ระบบ Micro Four Thirds ให้ Depth of Field ที่เด่นชัดและมีขนาดเล็กและเบากว่า จึงทำให้ฟังก์ชั่นกันสั่นของภาพทำงานได้ผลดีกว่ากล้องฟูลเฟรม ด้วยข้อได้เปรียบเหล่านี้ เราจึงสร้างประสิทธิภาพที่รอบด้านได้สำเร็จไม่ว่าจะถ่ายภาพตัวแบบประเภทใด และสามารถลดขนาดและน้ำหนักของเลนส์เทเลโฟโต้ได้
ในขณะเดียวกัน ราวปี 2011 เราก็เริ่มตรวจดูว่าแบรนด์กล้อง LUMIX ยังต้องการอะไรอีกเพื่อให้อยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต คำตอบของเราคือการริเริ่มพัฒนากล้องฟูลเฟรม
ในการพัฒนากล้อง S1R และ S1 เราให้ความสำคัญกับความง่ายและความรู้สึกในการใช้งานเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ แทนที่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลจำเพาะเพียงอย่างเดียว เพื่อสร้าง “เครื่องมือ” ที่สามารถนำไปใช้ถ่ายภาพได้หลายพันภาพต่อวัน ดังนั้น เราจึงยอมรับความท้าทายนี้และเริ่มพัฒนากล้องจากศูนย์ เราใช้ความพยายามอย่างมากในการออกแบบจุดศูนย์ถ่วง การจัดวางปุ่ม ที่จับ โครงสร้างเมนู และอื่นๆ ผลลัพธ์คือ เราประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดและน้ำหนักเท่านี้
—คุณให้ความสนใจกับอะไรมากเป็นพิเศษ
Takahashi: ช่องมองภาพ เราคิดว่าสามารถเพิ่มความละเอียดของช่องมองภาพได้ แม้จะเป็นช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงระดับใกล้เคียงกับที่สายตามนุษย์สามารถเห็นได้แทบจะเทียบเท่า “คุณภาพของภาพ” แนวคิดนี้ทำให้มีการนำเอา OLED ความละเอียด 5.76 ล้านจุดมาใช้
—ช่องมองภาพใน S Series ให้มุมมองภาพที่เป็นธรรมชาติ ผู้ใช้จึงสามารถโฟกัสกับตัวแบบได้อย่างเต็มที่
Takahashi: นั่นเป็นผลจากความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่ความละเอียดของหน้าจอเท่านั้น แต่รวมถึงระบบออพติคอลของช่องมองภาพด้วย แม้แต่กระจกฝาปิดยังใช้โครงสร้างแบบ 5 ชิ้นใน 5 กลุ่ม ช่องมองภาพนี้ให้ความสว่างที่เป็นธรรมชาติจนถึงขอบภาพ ช่วยกำจัดการลดทอนคุณภาพจากความต่างของสี และให้ภาพที่ชัดเจนปราศจากความบิดเบี้ยวจนถึงขอบภาพ ช่างภาพหลายท่านให้ความเห็นว่า ช่องมองภาพนี้ทำหน้าที่ได้ราวกับดวงตาของพวกเขาและไม่ทำให้ดวงตาเกิดความเหนื่อยล้าแม้จะมองผ่านช่องมองภาพมาทั้งวัน
—เมื่อผมมองผ่านช่องมองภาพ ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่ความล่าช้าซึ่งมักจะเกิดกับช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นน้อยมาก
Takahashi: เฟรมเรท 120 fps และความล่าช้าในการแสดงภาพคือ 0.005 วินาทีโดยประมาณ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระบบ Micro Four Thirds เราได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงประสิทธิภาพของช่องมองภาพ และ Real View Finder ในกล้อง S1R และ S1 ก็เป็นผลจากความพยายามนั้น ในการถ่ายภาพบุคคล ช่างภาพบางคนจะมองไปที่ตัวแบบโดยตรงด้วยตาข้างหนึ่ง และมองที่ช่่องมองภาพด้วยตาอีกข้างหนึ่ง หากช่างภาพใช้วิธีการเช่นนี้ในการถ่ายภาพ การใช้ Real View Finder จะทำให้สะดวกสบายมากกว่า
การสร้างสรรค์กล้องที่ตอบสนองต่อความต้องการและการทำงานของนิ้วมือช่างภาพได้อย่างรวดเร็ว
—อะไรคือสิ่งที่คุณให้ความสำคัญมากที่สุดในการออกแบบ S Series
Kitade: เนื่องจากเราเชื่อว่า S Series จะเป็น “เครื่องมือ” ที่ช่างภาพระดับมืออาชีพนำไปใช้งาน เราจึงมุ่งมั่นเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาดีไซน์ แม้เราจะได้เริ่มพัฒนากล้องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่เราอาจมองข้ามไปในบางจุดหรืออาจมีอคติ
ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต้นออกแบบ เราจึงไปเยือนสถานที่ถ่ายภาพของช่างภาพมืออาชีพ และทำการศึกษาโดยละเอียดเพื่อให้เข้าใจว่าพวกเขาเคลื่อนย้ายกล้องอย่างไร และคิดอะไรในขณะที่กดชัตเตอร์
—คุณได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้างไหม
Katsuhiro Kitade
—ออกแบบผลิตภัณฑ์กล้อง
Kitade: เรารู้สึกว่า ช่างภาพมืออาชีพมีความต้องการที่จะ “โฟกัสอยู่กับตัวแบบและการถ่ายทอดความงดงามโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการควบคุมและการใช้งานกล้อง” มากกว่าที่เราคาดไว้ เราสังเกตกระบวนการการถ่ายภาพและการใช้กล้องอย่างจริงจัง วิเคราะห์ขั้นตอนการถ่ายภาพ จากนั้นจึงกำหนดลำดับความสำคัญของการใช้งานแต่ละส่วนก่อนที่เราจะเริ่มกระบวนการดีไซน์
—คุณคำนึงถึงอะไรเป็นพิเศษในเรื่องความง่ายต่อการใช้งาน
Kitade: เราเลือกตำแหน่งของก้านควบคุมก่อนเป็นอันดับแรกเนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้บ่อยที่สุดในการถ่ายภาพให้ได้ตามต้องการ เราวางตำแหน่งก้านควบคุมไว้ในจุดที่ง่ายต่อการใช้งานที่สุด เมื่อเรียบร้อยแล้ว เราจึงจัดเรียงปุ่มอื่นๆ ตามขั้นตอนการถ่ายภาพ ในการพูดคุยกับสมาชิกทีมวางแผนและนักออกแบบซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการพัฒนา เราลงความเห็นว่าจะใช้ปุ่มหนึ่งสำหรับฟังก์ชั่นหนึ่ง เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดในการใช้งาน จึงทำให้ผู้ใช้สามารถใช้สมาธิในการถ่ายภาพได้อย่างเต็มที่
—เมื่อเปรียบเทียบ S Series กับกล้องอีกรุ่นหนึ่ง ผมพบว่าแม้ตำแหน่งของปุ่มจะมีความแตกต่างเพียงไม่กี่มิลลิเมตร กลับส่งผลต่อความง่ายในการใช้งานอย่างมาก
Kitade: ปุ่มที่ใช้ควบคุมกล้องในระหว่างการถ่ายภาพมักจะอยู่รวมกันที่ฝั่งที่จับ แต่เนื่องจากมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่อยู่ในฝั่งนั้นด้วย เช่น แบตเตอรี่ การติดตั้งปุ่มควบคุมการใช้งานลงไปในจุดที่เหมาะสมจึงทำได้ยาก ต่อการพัฒนา S Series ทีมออกแบบภายนอกได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในอย่างชาญฉลาดด้วยความใส่ใจแม้แต่รายละเอียดที่แตกต่างกันเพียง 1 มม. ดังนั้น ส่วนต่างๆ ที่ใช้ควบคุมกล้องจึงถูกจัดวางเพื่อให้ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การดีไซน์ การออกแบบ S Series จะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้หากปราศจากความมุ่งมั่นและทุ่มเทของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์กล้องที่ช่างภาพมืออาชีพเลือกใช้และชื่นชอบ ผมแน่ใจว่า เมื่อลูกค้าได้สัมผัสกล้อง S Series ด้วยมือของตัวเอง พวกเขาจะรู้ได้ทันทีว่ากล้องรุ่นนี้ใช้งานง่ายแค่ไหน