“You are what you eat” เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การรับประทานอาหารนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของเรา เพราะอาจสามารถช่วยกำหนดได้ว่า เราจะมีสุขภาพที่ดี หรือสุขภาพที่แย่ เทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ จึงได้รับความนิยมกันอย่างมากในปัจจุบัน วันนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับ อาหารอัลคาไลน์ เทรนด์การรับประทานอาหารแนวใหม่ ว่ามีประโยชน์อย่างไรกับร่างกายของเรากัน
อาหารอัลคาไลน์ คืออะไร ?
อาหารอัลคาไลน์ (Alkaline Diet) หรืออาหารด่าง หมายถึงอาหารที่เชื่อกันว่า เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะสามารถช่วยปรับสมดุลค่าความเป็นกรดเป็นด่างภายในร่างกายได้ แนวคิดในการรับประทานอาหารแบบนี้มาจากความเชื่อที่ว่า อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่เรารับประทานเข้าไป เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือน้ำอัดลม จะมีความเป็นกรดสูง และทำอันตรายต่อร่างกายได้ และการรับประทานอาหารอัลคาไลน์จะช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดเหล่านั้นให้หายไป เหมือนกับการใช้ด่างเพื่อปรับสมดุลความเป็นกรดตามปกตินั่นเอง
อาหารอัลคาไลน์นั้นเป็นที่รู้จักกันขึ้นมา เมื่อแนวทางการรับประทานอาหารนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มคนดัง เมื่อปี ค.ศ. 2013 วิคตอเรีย เบคแฮม (Victoria Beckham) ได้นำหนังสือคู่มือการทำอาหารอัลคาไลน์ที่ชอบโพสลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว ตั้งแต่นั้นมา แนวทางการรับประทานอาหารที่มีค่าความเป็นด่างก็เริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มคนดังอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
แนวทางในการรับประทานอาหารอัลคาไลน์
แนวทางในการรับประทานอาหารอัลคาไลน์ คือการเลือกรับประทานอาหารที่มีความเป็นด่าง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเป็นกรด เพื่อช่วยให้ความเป็นด่างในอาหารนั้นสามารถช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดในร่างกายได้ โดยมีตัวอย่างของอาหารดังนี้
อาหารที่ควรรับประทาน
ผลไม้ต่าง ๆ
ผัก โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง คะน้า
อาหารตระกูลถั่ว ทั้งถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว เป็นต้น
น้ำผักหรือน้ำผลไม้ที่ไม่เติมน้ำตาล
ลูกเกด
มันฝรั่ง
น้ำดื่มอัลคาไลน์หรือน้ำแร่ธรรมชาติ
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ทั้งเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือเนื้อปลา
อาหารแปรรูป โดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก หรืออาหารกระป๋อง
นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต
ไข่
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
น้ำอัดลม
โซดา
ธัญพืช เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี หรือข้าวโอ๊ต
อาหารอัลคาไลน์ช่วยปรับสมดุลร่างกายได้จริงเหรอ ?
หากจะว่ากันตามความจริงแล้ว หลักการรับประทานอาหารอัลคาไลน์นั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับหรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาพิสูจน์แนวคิดนี้แม้แต่น้อย ในทางกลับกัน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์กลับแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารแนวทางนี้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนสมดุลความเป็นกรดเป็นด่างภายในร่างกาย หรือทำให้ความเป็นกรดของเลือดลดลงได้แม้แต่น้อย
ในความเป็นจริงแล้ว ค่าความเป็นกรดเป็นด่างจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละจุดในร่างกาย เมื่อวัดตามค่า pH ตั้งแต่ 0-14 ที่ยิ่งมีค่าสูงก็ยิ่งมีความเป็นด่างสูง โดยเลือดของเราจะมีความเป็นด่างอยู่เล็กน้อย เพราะมีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 7.35-7.45 ในขณะที่กระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดสูง และมีค่า pH อยู่ที่ 3.5 ลงไป
เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ค่า pH ที่ได้จากอาหารนั้นก็ไม่สามารถส่งผลกระทบใด ๆ ต่อค่า pH ในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้เลย โดยกระเพาะอาหารของเราจะยังคงมีความเป็นกรดสูง เนื่องจากต้องหลั่งน้ำย่อยเพื่อใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารอัลคาไลน์ที่เรารับประทานเข้าไปนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากอาหารอื่น ๆ ที่เรารับประทานเข้าไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรับประทานอาหารอัลคาไลน์จะไม่สามารถช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดด่างภายในร่างกายได้ แต่อาหารอัลคาไลน์หรืออาหารที่มีค่าความเป็นด่างนั้นก็ยังคงมีประโยชน์ต่อสุขภาพค่อนข้างมาก เพราะอาหารอัลคาไลน์ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นอาหารจำพวกผักและผลไม้ ซึ่งมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มากนั่นเอง
อาหารอัลคาไลน์กับประโยชน์ต่อสุขภาพ
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการรับประทานอาหารอัลคาไลน์สามารถช่วยปรับสมดุลค่า pH ร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางรายเชื่อว่าการปรับปริมาณการรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดลดลง และเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีความเป็นด่างเพิ่มมากขึ้นอาจช่วยเสริมสุขภาพได้หลายประการ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่งค้บพบว่าการปรับเปลี่ยนมื้ออาหารให้มีส่วนประกอบของอาหารอัลคาไลน์มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ เต้าหู้ เมล็ดธัญพืชและถั่วชนิดต่าง ๆ อาจช่วยป้องกันโรคนิ่วในไต พัฒนาสุขภาพของหัวใจและการทำงานของสมอง อีกทั้งยังช่วยเสริมให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นที่พบว่าการดื่มน้ำด่างหรือน้ำดื่มอัลคาไลน์อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ให้ทำงานเป็นปกติ ด้วยการให้กลุ่มทดลองดื่มน้ำอัลคาไลน์ที่มีส่วนประกอบของไฮโดรเจนทุกวันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าลักษณะอุจจาระของกลุ่มทดลองมีความปกติขึ้นจากเดิมที่พบว่าอุจจาระมีลักษณะแข็งหรือนิ่มเกินไป อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่าการดื่มน้ำอัลคาไลน์ที่มีค่า pH 8.8 อาจช่วยยับยั้งเอนไซม์เพปซินซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องการมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของน้ำดื่มอัลคาไลน์หรือน้ำด่างต่อการรักษาโรคกรดไหลย้อนต่อไป
สุดท้ายนี้ หากคุณสนใจที่จะรับประทานอาหารอัลคาไลน์ ก็อย่าหักดิบรับประทานเพียงแต่อาหารที่มีความเป็นด่างเพียงอย่างเดียว โดยไม่รับประทานอาหารอื่น ๆ เพราะอาจทำให้เราขาดสารอาหารสำคัญบางอย่าง ที่สามารถพบได้ในอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น นม หรือเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราได้นั่นเอง
ขอบคุณบทความจาก เพจ Hello คุณหมอ