‘กรดไหลย้อน’ หนึ่งในโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานที่ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้รู้สึกปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกหลังรับประทานอาหาร มีอาการเรอเปรี้ยว และมีอาการจุกเสียดคล้ายอาหารไม่ย่อย ซึ่งนอกจากการรับประทานยาและการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนเวลารับประทานอาหารเย็นให้เร็วขึ้นกว่าเดิม การนอนตะแคงซ้าย รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูงแล้ว การดื่ม ‘น้ำดื่มอัลคาไลน์’ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนด้วยตนเอง เนื่องจากปัจจุบันมีวิจัยพบว่าการดื่มน้ำอัลคาไลน์หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า ‘น้ำด่าง’ อาจช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกจากโรคกรดไหลย้อนได้
น้ำอัลคาไลน์ต่างจากน้ำดื่มทั่วไปอย่างไร ?
โดยทั่วไปแล้วน้ำดื่มธรรมดาจะมีค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่า pH อยู่ที่ 7 ซึ่งถือว่ามีฤทธิ์เป็นกลาง ในขณะที่น้ำดื่มอัลคาไลน์จะมีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 8-9 ซึ่งจัดว่าอยู่ในช่วงของความเป็นด่าง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนไทยจึงเรียกน้ำอัลคาไลน์ว่า ‘น้ำด่าง’ นั่นเอง
นอกจากนี้ น้ำอัลคาไลน์ยังมีแร่ธาตุที่เป็นด่างเป็นส่วนประกอบอีกด้วย เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เป็นต้น รวมถึงยังมีค่า ORP (Oxidation Reduction Potential) เป็นลบ ซึ่งเป็นค่าวัดที่แสดงความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ของน้ำ โดยน้ำที่มีค่า ORP เป็นลบสูง น้ำนั้นก็จะยิ่งมีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระสูง
จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมีเทรนด์การดื่มน้ำอัลคาไลน์หรือน้ำด่างเกิดขึ้น และถึงแม้ว่าประโยชน์ต่อสุขภาพของการดื่มน้ำอัลคาไลน์จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่บ้างในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนที่มากเพียงพอ อย่างไรก็ตาม มีวิจัยบางชิ้นที่พบว่าน้ำดื่มอัลคาไลน์หรือน้ำด่างนั้นอาจมีประโยชน์ต่อปัญหาสุขภาพบางชนิด เช่น โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
น้ำอัลคาไลน์ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้จริงหรือ ?
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่มอัลคาไลน์ได้มีการอ้างสรรพคุณว่าการดื่มน้ำดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกและอาการระคายเคืองคอของผู้ที่ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ โดยค่า pH ที่สูงของน้ำอัลคาไลน์ที่มากกว่าน้ำดื่มทั่วไปนั้นจะช่วยลดกรดภายในกระเพาะอาหารทำให้เป็นกลางมากขึ้น
ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่าการดื่มน้ำอัลคาไลน์ที่มีค่า pH 8.8 อาจช่วยยับยั้งเปบซิน (Pepsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่เปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux: LPR) ด้วยยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (PPIs) กับผู้ป่วยที่ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ซึ่งประกอบด้วยอาหารวีแกนและน้ำดื่มอัลคาไลน์ ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร มีอาการของโรคกรดไหลย้อนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อควรรู้ก่อนดื่มน้ำอัลคาไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
ปริมาณน้ำอัลคาไลน์ที่ควรดื่มต่อวัน
แม้การดื่มน้ำอัลคาไลน์หรือน้ำด่างจะถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แนะนำปริมาณการดื่มที่เหมาะสมในแต่ละวัน ดังนั้น ผู้ที่สนใจดื่มน้ำอัลคาไลน์ควรเริ่มต้นดื่มในปริมาณเล็กน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการดื่มอย่างช้า ๆ หรืออาจปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมในการดื่มน้ำอัลคาไลน์
ผู้ป่วยมะเร็งกับการดื่มน้ำอัลคาไลน์
แม้จะมีความเชื่อว่าการดื่มน้ำอัลคาไลน์อาจมีประสิทธิภาพช่วยรักษาหรือป้องกันมะเร็ง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่พิสูจน์ได้ว่าน้ำอัลคาไลน์ช่วยป้องกันหรือยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังจำเป็นต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยคีโมบำบัด การฉายแสง หรือการผ่าตัด เพราะการรักษาดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะขาดน้ำและทำให้ร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องการดื่มน้ำอัลคาไลน์อาจเริ่มต้นดื่มที่ 2-3 วันต่อแก้ว แล้วค่อย ๆ ปรับปริมาณขึ้นทีละเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อนการบริโภค
ผลข้างเคียงของการดื่มน้ำอัลคาไลน์
ความเป็นด่างที่เพิ่งสูงขึ้นจากการดื่มน้ำอัลคาไลน์อาจทำให้ผิวแห้งและอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างโรคไตควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชนิดนี้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้
แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคสามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งการดื่มน้ำอัลคาไลน์หรือน้ำด่างอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนระยะเริ่มต้นที่ต้องการหาวิธีการรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากพบว่าหลังลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังเรื้อรังและไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ขอบคุณบทความจาก เพจ Hello คุณหมอ