Similan และ Indian Ocean Dipole
Indian Ocean Dipole หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IOD เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดียไปรวมตัวกันที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งในมหาสมุทรอินดีย ปีนี้ (พ.ศ 2563) เป็นปีที่น้ำอุ่นไปรวมตัวทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียส่งผลให้น้ำทะเลในฝั่งอันดามันเย็นกว่าปกติ การรวมตัวของน้ำอุ่นทางตะวันตกเราถือว่าเป็นขั้วบวก (Positive Phase) หากรวมตัวทางตะวันออก คือทางฝั่งอันดามันของไทยจะถือเป็นขั้วลบ (Negative Phase)
กระแสน้ำเย็นในทะเลลึกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พัดพาแร่ธาตุและอาหารขึ้นมา แพลงตอนจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทำให้น้ำทะเลฝั่งอันดามันเป็นสีเขียวแทนที่จะเป็นสีฟ้าอย่างในเวลาปกติ และนำพาสัตว์ทะเลลึกหายากให้เข้ามายังบริเวณแนวปะการังอีกด้วย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอุณหภูมิน้ำที่เย็นกว่าในช่วงเวลาปกติ จากเดิมที่ อุณหภูมิของน้ำทะเลอยู่ในช่วง 28-29 องศาเซลเซียส สามารถดำน้ำได้อย่างสบายๆ แต่ช่วงนี้อุณหภูมิลดลงไปอยู่ที่ 24-25 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว การลงดำน้ำในแต่ละครั้งก็เลยหนาวสั่นอยู่ไม่น้อย
ส่วนน้ำทะเลที่เขียว และขุ่น สามารถมองเห็นตะกอนลอยในน้ำด้วยตาเปล่า ถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอก็ติดเข้ามาจนยากที่จะหลีกเลี่ยง ทุกๆ ไดฟ์ขุ่นและเขียวแต่ทว่ามีเอกลักษณ์พิเศษให้รู้ว่าเป็นน้ำทะเลของปีนี้
ภาพถ่ายปลาตาหวานจากเกาะบอน ทางกองหินด้านทิศตะวันตกเหนือ ความลึก 20 เมตร
ปลาตาหวานอยู่รวมกันเป็นฝูง ลักษณะดวงตากลมโตจึงเป็นที่มาของชื่อ หลายครั้งชอบรวมฝูงในซอกหลืบแสงน้อย แต่ครั้งนี้โชคดีทีได้พบฝูงปลาตาหวานออกมาในที่โล่งๆ ให้จับภาพได้ง่ายหน่อย ปลาตาหวานปกติจะมีสีแดง แต่สามารถเปลี่ยนเป็นสีเงินเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้
ปลาหมูสี รวมตัวกันเป็นจำนวนมากบริเวณพื้นทราย ความลึกกว่า 24 เมตร
ภาพการรวมตัวกันของฝูงปลาหมูสี หรือปลาหัวเสี้ยม หรือปลาหน้าเสี้ยม (มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lethrinus olivaceus) ที่รวมฝูงกันทางด้านตะวันตกเหนือของเกาะบอนในทะเลอันดามัน โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า “น่าจะเป็นพฤติกรรม Aggregation เพื่อวางไข่” โดยรายงานการรวมฝูงเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ และแหล่งวางไข่ ของปลาหมูสีในบ้านเรายังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการน้อยมาก
ปลากระเบนจุดฟ้ารวมตัวกันมากมายบริเวณพื้นทรายรอบกองหินริเชลิว ที่ความลึกกว่า 20 เมตร
ก่อนหน้าที่จะเดินทางไปถึงกองหินริเชลิว จุดดำน้ำเหนือสุดของการเดินทางครั้งนี้ เราได้ยินว่าน้ำเย็นทำให้ฝูงกระเบนจุดฟ้ามารวมฝูงกันตามพื้นทรายที่ริเชลิว และแล้วความคาดหวังที่จะได้บันทึกภาพปรากฎการณ์ที่ไม่สามารถพบได้บ่อยๆ เช่นนี้ ก็เป็นจริง
โรนัน เข้าใจว่าเป็นเพศผู้จากลักษณะลำตัวที่เล็กกว่าเพศเมียอย่างเห็นได้ชัด พบในอ่าวเกือกม้าของกองหินริเชลิว
ภารกิจในการดำน้ำครั้งนี้ คือการเก็บภาพบรรยากาศท้องทะเลอันดามัน ที่ขึ้นชื่อเรื่องสีสัน และความสวยงาม แต่ด้วยจังหวะ ความบังเอิญ และความโชคดี ทำให้เราได้พบกับปลาทะเลที่หาชมได้ยากมากๆ อย่าง “โรนัน” ซึ่งปกติจะกลัว ตื่นตกใจ และว่ายหนีนักดำน้ำ โรนันเป็นปลาที่มีรูปร่างอยู่กึ่งกลางระหว่างฉลาม และกระเบน มีปากอยู่บริเวณด้านล่างของลำตัว แต่ไม่มีฟันแหลมคมแบบฉลาม หากินโดยจับสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ ตามพื้นทรายกิน
หลายๆครั้งเราอาจสังเกตเห็นปลาโรนันที่นอนนิ่งบนพื้นทรายได้จากบริวารที่มาห้อมล้อมปลาโรนัน ดังเช่นในภาพจะเป็นปลามงว่ายเข้ามาถูลำตัวเข้ากับผิวหนังของโรนันเพื่อกำจัดปรสิตบนตัว
พื้นทรายอ่าวเกือกม้า ที่ความลึกราว 24-25 เมตร
ภาพทั้งหมดในชุดนี้บันทึกด้วยกล้อง Lumix S1R ใน Housing กันน้ำ ใช้เลนส์ช่วง 16-35 มม. และ เลนส์ฟิชอาย 15 มม. สำหรับไฟสำหรับการถ่ายครั้งนี้เนื่องจากภารกิจหลักเป็นการบันทึกภาพวีดีโอ จึงใช้ไฟวีดีโอใต้น้ำเพื่อคืนสีและแสงให้กับภาพวีดีโอ สำหรับภาพนิ่งเป็นการ capture ภาพจากไฟล์วีดีโอที่มีความละเอียด 4K ได้เป็นภาพนิ่งที่มีความละเอียดประมาณ 8 ล้านพิกเซล นำมาปรับสีและความคมชัดอีกครั้ง
ศุภชัย วีรยุทธานนท์ – ช่างภาพอิสระ, ช่างภาพใต้น้ำ
เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ถ่ายภาพใต้น้ำในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เกาะสิปาดัน มาเลเซีย, เกาะบาหลี หมู่เกาะราชาอัมพัท เกาะมานาโด, ช่องแคบเลมเบห์ ในประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะมัลดีฟ, หมู่เกาะปาเลา, หมู่เกาะกาลาปากอส - เกาะ Cocos ในทวีปอเมริกาใต้, การดำน้ำในถ้ำที่ประเทศเมกซิโก ที่หมู่เกาะ Socorro, ฮาวาย, ถ่ายวาฬหลังค่อม ที่เกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผลงานการถ่ายสารคดี เคยฝากผลงานการถ่ายสารคดีใต้น้ำว่าด้วยเรื่องชนเผ่าบาเจา ในช่องThai PBS และสารคดีวาฬ และฉลามในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผลงานหลายๆ ชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในสื่ออื่นอย่างหนังสือ และนิตยสารเป็นต้นรวมถึงได้รับรางวัลต่างๆมาแล้วทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
DC-S1RGA-K
กล้อง DSLM (Digital Single Lens Mirrorless) แบบฟูลเฟรมที่มีเซ็นเซอร์ MOS ความละเอียด 47.3 ล้านพิกเซล และโหมดความละเอียดสูง 187 ล้านพิกเซล
DC-S1RMGA-K
กล้อง DSLM (Digital Single Lens Mirrorless) แบบฟูลเฟรมที่มีเซ็นเซอร์ MOS ความละเอียด 47.3 ล้านพิกเซล และโหมดความละเอียดสูง 187 ล้านพิกเซล ชุดเลนส์ 24-105 มม.